Social Icons

กอกกัน

imageimage
ชื่อวิทยาศาสตร์ Lannea coromandelica (Houtt.) Merr.
ชื่อวงศ์ Anacardiaceae
ชื่ออื่น กอกกั๋น (อุบลราชธานี) หวีด (เชียงใหม่) อ้อยช้าง (เหนือ) ตะคร้ำ กุ้ก กุ๊ก หวีด ช้าเกาะ ช้างโน้ม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบ สูงถึง 17 เมตร เรือนยอดโปร่ง มีกิ่งก้านค่อนข้างเล็กเรียว เปลือกต้นเรียบ หรือแตกเป็นสะเก็ด สีเขียวแกมเทา เปลือกในสีชมพู เป็นเส้นใย มียางเหนียวใส กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มรูปดาว และมีช่องอากาศ ไม่แตกกิ่งก้านมาก ทิ้งใบเวลามีดอก กิ่งก้านหนา มีรอยแผลใหญ่ๆของใบที่หลุดไป ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ เรียงเวียน แกนกลางใบประกอบยาว 12-28 ซม. ก้านใบประกอบ ยาว 6-8 ซม. รูปคล้ายทรงกระบอก ใบย่อย 3-6 คู่ เรียงตรงข้าม ก้านใบย่อยค่อนข้างสั้น มักจะมีสันปีกแคบๆด้านใดด้านหนึ่ง ก้านใบย่อยยาว 1-1.5 มม. ก้านใบย่อยของใบปลายยาว 2-3 ซม. ใบย่อยรูปไข่ กว้าง 3-4 ซม. ยาว 6-12 ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนกลม ขอบเรียบ หรือหยักมน มีขนสั้นนุ่มรูปดาวทั้งสองด้าน ใบย่อยที่ปลายมีขนาดใหญ่กว่าใบย่อยอื่นๆ ใบแก่บาง ผิวเกลี้ยง มีเส้นใบข้าง 7-11 คู่ เส้นใบย่อยเลือนราง ช่อดอก แบบช่อเชิงลด ออกที่ซอกใบใกล้ปลายยอด ช่อดอกห้อยลงมาจากกิ่งที่ไม่มีใบ ดอกขนาด 0.3 ซม. สีเหลืองอ่อนหรือเขียวอมเหลือง ช่อยาว 12-30 ซม. ก้านช่อมีขนเล็กๆ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่แยกต้น ต้นเพศผู้มีช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว 10-25 ซม. ต้นเพศเมียแตกแขนงน้อยกว่า ช่อยาวได้ถึง 15 ซม. ก้านดอกยาว 2 มม. หรือไม่มีก้านดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1 มม. ปลายแยกเป็นแฉก มี 4-6 แฉก รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน มีขนปกคลุม ขนาดกว้าง ประมาณ 1 มม. ยาวประมาณ 1.5 มม. ปลายมน ด้านนอกเกลี้ยง หรือมีขนรูปดาวประปราย กลีบดอกมี 4-5 กลีบ ซ้อนกัน รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้าง 1-1.2 มม. ยาว 2-2.5 มม. ปลายมน ไม่มีขน เกสรเพศผู้มี 8-10 อัน อยู่ในดอกเพศผู้ ยาวประมาณ 2 มม. เกสรเพศผู้ล้อมรอบหมอนรองดอกรูปวงแหวน มีร่องเว้าตรงกลาง ในดอกเพศเมีย ยาวประมาณ 1 มม. หรือสั้นกว่า รังไข่สีแดงสด ผลสดแบบ ผลผนังชั้นในแข็ง รูปเมล็ดถั่ว รูปไตแบน รูปสี่เหลี่ยมคางหมู หรือรูปคล้ายสี่เหลี่ยมมุมฉากถึงรูปกลม ยาวประมาณ 1 ซม. กว้างประมาณ 6 มม. ก้านผลสั้น หรือเกือบไม่มีก้าน มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดเดียวแข็ง มีรอยเว้า 1-2 รอยที่ปลายบน ผลมีสีชมพูเมื่อสุกสีแดง พบตามป่าผลัดใบ ป่าเต็งรัง ตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเล จนถึงที่สูงประมาณ 1,500 ม. ออกดอกและเป็นผลระหว่าง เดือนกรกฎาคม-มีนาคม
สรรพคุณทางสมุนไพร เปลือกต้น มีรสขม ใช้สมานแผล และห้ามเลือด แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ปวดท้อง เป็นยาธาตุ หรือช่วยเจริญอาหาร ใช้แก้ปวด ใช้รักษาบาดแผล แก้รอยฟกช้ำ แผลผุพอง ตาอักเสบรุนแรง โรคเกาต์ แผลเปื่อย ในกระเพาะอาหาร แก้ปวดฟัน อาการแพลง และท้องร่วง ใบ ใช้รักษาโรคเท้าช้าง อาการอักเสบ อาการปวดประสาท อาการแพลง และรอยฟกช้ำ แก่น มีรสหวาน ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ ใช้ปรุงแต่งรสยาให้มีรสหวาน

นิทานสอนเด็ก นิทานอีสป นิทานก่อนนอน

สถิติการเข้าชม