Pages

ว่านหางจระเข้

     ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aloe barbadensis Mill.
     ชื่ออื่น : ว่านไฟไหม้,หางตะเข้
ลักษณะ
เป็นพืชล้มลุก ลำต้นสั้น ใบงอกขึ้นมาจากดิน ใบหนา อวบน้ำ ภายมีวุ้นและเมือกมาก ปลายใบแหลม ริมใบหยักและมีหนาม ผิวใบสีเขียวและมีรอยกะสีขาว ดอกออกจากลางต้น เป็นช่อสีม่วงแดงออกเหลืองเล็กน้อย ก้านดอกยาวมาก พันธ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมมีกาบใบใหญ่ ส่วนพันธ์พื้นบ้านที่พบทั่วไปมีขนาดใบเล็ก
สรรพคุณเด่น
รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลเรื้อรัง ลดน้ำตาลในเลือด บำรุงเส้นผม
  • ใบ - รสเย็น ตำผสมสุรา พอกฝี
  • ทั้งต้น - รสเย็น ดองสุราดื่มขับน้ำคาวปลา
  • ราก - รสขม รับประทานถ่ายโรคหนองใน แก้มุตกิด
  • ยางในใบ - เป็นยาระบาย
  • น้ำวุ้นจากใบ - ล้างด้วยน้ำสะอาด ฝานบางๆ รักษาแผลสดภายนอก น้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ทำให้แผลเป็นจางลง ดับพิษร้อน ทาผิวป้องกันและรักษาอาการไหม้จากแสงแดด ทาผิวรักษาสิวฝ้า และขจัดรอยแผลเป็น
  • เนื้อวุ้น - เหน็บทวาร รักษาริดสีดวงทวาร
  • เหง้า - ต้มรับประทานแก้หนองใน โรคมุตกิด
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
  • ใช้เป็นยาภายใน 1. เป็นยาถ่าย
    ใช้น้ำยางสีเหลืองที่มีรสขม คลื่นไส้ อาเจียน น้ำยางสีเหลืองที่ไหลออกมาระหว่างผิวนอกของใบกับตัววุ้น จะให้ยาที่เรียกว่า ยาดำ
    วิธีการทำยาดำ ตัดใบว่านหางจระเข้ที่โคนใบให้เป็นรูปสามเหลี่ยม (ต้องเป็นพันธุ์เฉพาะ ซึ่งจะมีขนาดใบใหญ่ และอวบน้ำมาก จะให้น้ำยางสีเหลืองมาก) ต้นที่เหมาะจะตัด ควรมีอายุ 9 เดือนขึ้นไป จะให้น้ำยางมากไปจนถึงปีที่ 3 และจะให้ไปเรื่อยๆ จนถึงปีที่ 10 ตัดใบว่านหางจระเข้ตรงโคนใบ และปล่อยให้น้ำยางไหลลงในภาชนะ นำไปเคี่ยวให้ข้น เทลงในพิมพ์ ทิ้งไว้จะแข็งเป็นก้อน
    ยาดำ
    มีลักษณะสีแดงน้ำตาล จนถึงดำ เป็นของแข็ง เปราะ ผิวมัน กลิ่นและรสขม คลื่นไส้ อาเจียน
    สารเคมี - สารสำคัญในยาดำเป็น G-glycoside ที่มีชื่อว่า barbaloin (Aloe-emodin anthrone C-10 glycoside)
    ขนาดที่ใช้เป็นยาถ่าย - 0.25 กรัม เท่ากับ 250 มิลลิกรัม ประมาณ 1-2 เม็ดถั่วเขียว บางคนรับประทานแล้วไซ้ท้อง
    2. แก้กระเพาะ ลำไส้อักเสบ
    โดยเอาใบมาปอกเปลือกออก เหลือแต่วุ้น แล้วใช้รับประทาน วันละ 2 เวลา ครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ
    3. แก้อาการปวดตามข้อ โดยการดื่มว่านหางจระเข้ทั้งน้ำ วุ้น หรืออาจจะใช้วิธีปอกส่วนนอกของใบออก เหลือแต่วุ้น นำไปแช่ตู้เย็นให้เย็นๆ จะช่วยให้รับประทานได้ง่าย รับประทานวันละ 2-3 ครั้งๆ ละ 1-2 ช้อนโต๊ะ เท่ากับ 2 ช้อนแกง บางคนบอกว่า เมื่อรับประทานว่านหางจระเข้ อาการปวดตามข้อจะทุเลาทันที แต่หลายๆ คนบอกว่า อาการจะดีขึ้นหลังจากรับประทานติดต่อกันสองเดือนขึ้นไป สำหรับใช้รักษาอาการนี้ ยังไม่ได้ทำการวิจัย
ใช้สำหรับเป็นยาภายนอก ใช้ส่วนวุ้น ต้องล้างน้ำยางสีเหลืองออกให้หมด
1. รักษาแผลไฟไหม้ และน้ำร้อนลวก ใช้วุ้นในใบสดทา หรือแปะที่แผลให้เปียกอยู่ตลอดเวลา 2 วันแรก แผลจะหายเร็วมาก จะบรรเทาปวดแสบ ปวดร้อน หรืออาการปวดจะไม่เกิดขึ้น แผลอาจไม่มีแผลเป็น (ระวังความสะอาด)
2. ผิวไหม้เนื่องจากถูกแดดเผา และแก้แผลเรื้อรังจากการฉายรังสี -  ป้องกันการถูกแดดเผา ใช้ทาก่อนออกแดด อาจใช้ใบสดก็ได้ แต่การใช้ใบสดอาจจะทำให้ผิวหนังแห้ง เนื่องจากใบว่านหางจระเข้มีฤทธิ์ฝาดสมาน ถ้าจะลดการทำให้ผิวหนังแห้ง อาจจะใช้ร่วมกับน้ำมันพืช หรืออาจจะเตรียมเป็นโลชันให้สะดวกในการใช้ขึ้น
- รักษาผิวหนังที่ถูกแดดเผา หรือไหม้เกรียมจากการฉายแสง โดยการทาด้วยวุ้นของว่านหางจระเข้บ่อยๆ จะลดการอักเสบลง แต่ถ้าใช้วุ้นทานานๆ จะทำให้ผิวแห้ง ต้องผสมกับน้ำมันพืช ยกเว้นแต่ จะทำให้เปียกชุ่มอยู่เสมอ
3. แผลจากของมีคม แก้ฝี แก้ตะมอย และแผลที่ริมฝีปาก เป็นการรักษาแบบพื้นบ้าน ล้างใบว่านหางจระเข้ให้สะอาด บาดแผลก็ต้องทำความสะอาดเช่นกัน นำวุ้นจากใบแปะตรงแผลให้มิด ใช้ผ้าปิด หยอดน้ำเมือกลงตรงแผลให้เปียกอยู่เสมอ หรือจะเตรียมเป็นขี้ผึ้งก็ได้
4. แผลจากการถูกครูด หรือถลอก แผลพวกนี้จะเจ็บปวดมาก ใช้ใบว่านหางจระเข้ล้างให้สะอาด ผ่าเป็นซีก ใช้ด้านที่เป็นวุ้นทาแผลเบาๆ ในวันแรกควรทาบ่อยๆ จะทำให้แผลไม่ค่อยเจ็บ และแผลหายเร็วขึ้น
5. รักษาริดสีดวงทวาร นอกจากจะช่วยรักษาแล้ว ยังช่วยบรรเทาอาการปวด อาการคันได้ด้วย โดยทำความสะอาดทวารหนักให้สะอาดและแห้ง ควรปฏิบัติหลังจากการอุจจาระ หรือหลังอาบน้ำ หรือก่อนนอน เอาว่านหางจระเข้ปอก

วิธีใช้ในครัวเรือน
ตัดกาบวานหางจระเข้มาล้างน้ำให้สะอาด แล้วแช่ไว้ 5 นาที เพื่อให้ยางไหลออกจนหมด นำว่านหางจระเข้มาเฉือนหนามทั้งสองข้างออก แล้วใช้มีดผ่าเนื้อวุ้นออกเป็น 2 ชิ้น น้ำวุ้นว่านหางจระเข้มาทาแผลบ่อย ๆ หรือถ้าใช้กินให้ปอกเปลือกออกให้หมด แล้วกินเนื้อวุ้นสด ๆ
สภาพแวดล้อม
ว่านหางจระเข้ เป็นพืชจำพวกเดียวกับกระบองเพชร มีแหล่งกำเนิดมาจากแอฟริกาและชายฝั่งทะเลเมริเตอร์เรเนียน ในเมืองไทยปลูกมากแถวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปลูกได้ดีในบริเวณใกล้ทะเล ชอบดินปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์ ทนดินเค็ม เป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่ต้องระบายน้ำได้ดี มิฉะนั้นจะตายเพราะรากเน่า ชอบแดดปานกลางถึงรำไร ถูกแดดจัดใบจะเป็นสีน้ำตาลปลายแห้งงอ
ปลูก / ดูแลใช้เสียมขุดหน่อหรือต้นเล็กๆ ที่แตกออกมาจากต้นแม่ ต้นสูงประมาณ 25-30 ซม. หรือตัดส่วนยอดของต้นแม่ที่เก็บใบไปแล้ว ให้มีส่วนลำต้นติดไปเล็กน้อย ก็นำไปปลูกได้เหมือนกัน
ควรปลูกแซมระหว่างแถวต้นไม้ที่พอบังไม่ให้ถูกแดดจัด ถ้าปลูกเป็นแถว ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 40 ซม. ระหว่างแถว 1 เมตร ขุดหลุมลึกประมาณ 10-20 ซม. เอาต้นปลูกลงในหลุม กลบดินให้เสมอโคนต้น ในช่วงแรกรดน้ำให้ดินชุมอยู่เสมอ ระวังอย่าให้น้ำขัง คอยดายหญ้า ไม่ใช้ยาฆ่าแมลงโดยเด็ดขาดเพราะจะทำให้ว่านหางจระเข้ชะงักการเจริญเติบโต หรือตายได้ คอยแตกหน่อเล็กๆ ออกบ้าง เพื่อไม่ให้แย่งอาหารจากต้นแม่ ถ้าปลูกในกระถางจะต้องเปลี่ยนดินบ้าง หรือใส่ปุ๋ยคอกบำรุงเป็นระยะๆ
เก็บเกี่ยว
ใช้มีดเล็กๆ กรีดที่โคนกาบใบด้านล่างด้านใดด้านหนึ่ง แล้วจับกาบใบที่กรีดนั้นดึงลง ระวังอย่าให้ใบช้ำ น้ำกาบใบมาตั้งทิ้งไว้สักครู่เพื่อให้ยางไหลออกจนหมด จากนั้นจึงนำมาล้างให้สะอาด ผึ่งลมให้แห้งก่อนบรรจุถุง