Pages

กระแตไต่ไม้

กระแตไต่ไม้
ชื่อสามัญ : -Drynaria
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Drynaria quercifolia (L.) J. Sm.
ชื่อวงศ์ : POLYPODIACEAE
ชื่อท้องถิ่น : กระแตไต่ไม้ (ภาคกลาง), กระปรอก (จันทบุรี), กระปรอกว่าว (ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี), กูดขาฮอก เช้าวะนะ พุดองแคะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เดาน์กาโละ (มลายู-ปัตตานี), ใบหูช้าง สไบนาง (กาญจนบุรี), สะโมง (ส่วย-สุรินทร์), หัวว่าว (ประจวบคีรีขันธ์)
ลักษณะทั่วไป : เฟินสกุลนี้ มีทั้งที่เป็นเฟินเกาะอาศัยบนคาคบไม้ และอยู่บนดิน หรือบนก้อนหิน
ลักษณะทั่วไปของเฟินสกุลนี้ มีเหง้าอวบอ้วนและสั้น ไม่มีข้อปล้อง ปีนเกาะกับสิ่งที่ยึดเกาะ เหง้ามีขนหรือเกล็ดเป็นเส้นสีน้ำตาลแดงปกคลุมทั่ว และมีรากอยู่หนาแน่นด้านล่างเหง้า

ใบมี 2 แบบ คือ ใบกาบหรือใบตะกร้า (base frond หรือ nest-leaves ) เป็นกาบบาง ไม่หนา รูปไข่หรือรูปโล่ห์กลม ไม่มีก้าน ขอบเป็นหยักพูตื้น ทำหน้าที่เก็บสะสมเศษซากอินทรีย์วัตถุ ใบแก่จะไม่หลุดทิ้งจากต้น จะอยู่ติดไปตลอดจนเปื่อยผุงพัง ใบอีกชนิด ใบจริง หรือใบที่สร้างสปรอ์ (foliage-leaves หรือ fertile frond) มีก้านยาว ขอบใบหยักเป็นพูลึก โคนใบย่อยติดกัน ดูคล้ายใบประกอบขนนก หรือเป็นใบประกอบแบบขนนก อับสปอร์มีขนาดเล็ก เรียงเป็นแถวเดี่ยว หรือ 2 แถว ขนานไปตามแนวเส้นกลางใบ ไม่มีเยื่ออินดูเซียปิด

เฟินสกุลนี้มักพักตัวในหน้าหนาว ตั้งแต่เดือน พ.ย. โดยใบกาบจะเริ่มแห้งเป็นสีน้ำตาลติดอยู่กับเหง้า และจะติดตลอดไปจนกว่าจะผุพังเพื่อเป็นอาหารเลี้ยงต้น ส่วนในสปอร์จะอยู่กับต้นไปอีกระยะหนึ่ง จนกระทั่งใบแก่และหลุดร่วงตามหลัง ราวเดือน ม.ค. โดยเหลือทิ้งก้านติดเหง้าไว้ ทำให้ดูเหมือนมันตายแล้ว จนกระทั่งเมื่อเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน เดือน มี.ค. ใบสปอร์ชุดใหม่จะเริ่มผลิออกมา และสร้างสปอร์เตรียมไว้ เพื่อกระจายสปอร์ออกไปก่อนฤดูฝน จนกระทั่งเมื่อฝนเริ่มตก ราวเดือน พ.ค. ใบกาบจะเริ่มผลิออกมาใหม่พร้อมกับปลายยอดเหง้าเจริญเติบโตเลื้อยยาวออกไป

สกุลนี้ กระจายพันธุ์อยู่ตามป่าเขตร้อน ตั้งแต่อัฟริกา ไปถึงเอเซีย ตั้งแต่จีนตอนเหนือถึงตอนใต้ของออสเตเรีย หมู่เกาะแปซิฟิคและอาฟริกา มีจำนวนราว 20 ชนิด ในออสเตเลียมี 3 ชนิด ในบ้านเรามี 7 ชนิด
สรรพคุณ :
ยาพื้นบ้านอีสานใช้ เหง้า 3-4 เหง้าผสมกับลำต้นเอื้องเงิน 1 ต้น ต้มน้ำดื่ม ครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 2-3 ครั้ง บำรุงเลือดตำรายาไทยใช้ เหง้า เป็นยาสมานคุมธาตุ ขับปัสสาวะ ขับพยาธิ แก้ปัสสาวะพิการ (อากรปัสสาวะปวด หรือกะปริบกะปรอยหรือขุ่นข้น สีเหลืองเข้ม หรือมีเลือด) ไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้น เหลือง หรือแดง มักมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้) สารสกัดแอลกอฮอล์ไม่มีพิษเฉียบพลัน
ในตำราสมุนไพรจีน เฟินสกุลนี้เป็นสมันไพรที่มีความสำคัญมากตัวหนึ่ง ใช้สำหรับบำบัดอาการป่วยเนื่องจากกระดูกแตกและเส้นเอ็นฉีกขาด โดยนำเฟินสกุลนี้ไปเข้ากับสมุนไพรตัวอื่น หรือใช้เดี่ยว นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำดำเขียว ซึ่งสรรพคุณนี้ชาวจีนโบราณค้นพบมานานร่วมพันปีแล้ว และเรียกมันว่า “Mender of Shattered Bones.” เฟินสกุลนี้นำไปผสมกับ Dipsacus และอื่นๆ เพื่อใช้บำบัดอาการป่วยได้ดี
นอกจากนี้ เฟินในสกุลนี้ ใช้สำหรับบำบัดอาการปวดหลังและหัวเข่า แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้ปวดฟัน ในตำราสมุนไพรไทยโบราณ ใช้เหง้าต้มดื่ม แก้โรคหืดหอบ ได้อีกด้วย
เหง้าของ Drynaria มีรสขม มีสรรพคุณช่วยให้โลหิตหมุนเวียน แก้อาการมือเท้าเย็น ขยายหลอดเลือด ลดอาการเจ็บปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อฉีกขาด แก้ไขข้ออักเสบ ปวดหลัง ปวดข้อ กระดูกแตก