Pages

สาบแร้งสาบกา

สาบแร้งสาบกา
ชื่ออื่น  : เทียนแม่ฮาง (เลย), หญ้าสาบแฮ้ง (เชียงใหม่), หญ้าสาบแร้ง (ราชบุรี), ตับเสือเล็ก (สิงห์บุรี), เซ้งอั้งโซว (จีน-แต้จิ๋ว)

ชื่อสามัญ : Goat Weed

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ageratum conyzoides Linn.

วงศ์ : COMPOSITAE

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : เป็นพรรณไม้ล้มลุก ที่มีอายุเพียงปีเดียวตาย ลำต้นจะตั้งตรงแตกกิ่งก้านสาขามาก ทั้งต้นจะมีขนปกคลุมอยู่ และเมื่อเด็ดมาขยี้ดมจะมีกลิ่นเฉพาะตัวเลย ลำต้นสูงประมาณ 1-2 ฟุต

ใบ : ออกใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ๆ แต่ตรงส่วนยอดใบจะเรียงสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปมนรี ปลายแหลม โคนใบเว้าคล้ายรูปหัวใจ ขอบใบเป็นจักฟันเลื่อย พื้นใบมีสีเขียว และมีขนสั้น ๆ อ่อน ๆ ปกคลุมอยู่ ยาวประมาณ 2-5 นิ้ว ก้านใบมีขนปกคลุมตลอดทั้งก้าน

ดอก : ออกดอกเป็นช่ออยู่ตรงส่วนยอดของต้น ช่อหนึ่ง ๆ จะมีดอกขนาดเล็กประมาณ 6 มม. อัดตัวอยู่กันแน่น ดอกมีสีม่วงน้ำเงินหรือขาว มีอยู่ 5 กลีบ ๆ เลี้ยงสีเขียว

ผล : แปลกมาก คือจะเป็นรูปเส้นตรงสีดำ ส่วนบนจะมีขนสั้นอยู่ 5 เส้น

การขยายพันธุ์ : เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิดซึ่งจัดเป็นวัชชพืชชนิดหนึ่ง ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

ส่วนที่ใช้ : ทั้งต้น ใบ และราก

สรรพคุณทางสมุนไพร
ทั้งต้น แก้ไข้ ขับระดู แก้บิด แก้ลม และแก้ช่องทวารหนักหย่อนยาน

ใบ พอกแก้คัน แก้แผลเรื้อรังที่เยื่อเมือก ห้ามเลือด ทาภายนอกแก้ปวดบวม แก้ท้องขึ้นอืดเฟ้อ น้ำต้มกินแก้ไข้ น้ำคั้นใช้หยอดตาแก้ตาเจ็บ เป็นยาทำให้อาเจียน

ราก ใช้ยับยั้งการเจริญเติบโตของก้อนนิ่ว แก้ไข้

ถิ่นที่อยู่ : เป็นพรรณไม้พื้นเมืองของอเมริกาเขตร้อน ปัจจุบันขึ้นอยู่ทั่วไปตามที่รกร้างว่างเปล่า

ตำรับ ยา : 1. แผลเรื้อรังที่เนื้อเยื่อเมือกบวมอักเสบ นำใบสดและยอดมาล้างให้สะอาด ผสมกับเกลือและข้าวหมัก ตำให้เข้ากันแล้วพอกบริเวณที่เป็น

2. ไข้หวัด ใช้ใบสด 60 กรัมต้มน้ำกิน

3. แผลเรื้อรังมีหนอง ฝี ให้ใช้ใบสดผสมกับน้ำตาลทรายแดงเล็กน้อย แล้วตำพอก

4. ปวดกระดูก ปวดข้อ ใช้ใบสดตำพอก

5. คออักเสบ ใช้ใบสด 30-60 กรัมนำมาล้างให้สะอาดเสียก่อนแล้วคั้นเอาแต่น้ำผสมกับน้ำตาลกรวด รับประทานวันละ 3 ครั้ง

6. ตาปลาอักเสบ ปากเป็นแผล ใช้ใบสด 120 กรัมกับกากเมล็ดชา 15 กรัม ผสมกันแล้วตำพอก

7. หูชั้นกลางอักเสบ ใช้ยอดสดคั้นเอาแต่น้ำแล้วหยอด

8. แผลฟกช้ำ มีเลือดออก ใช้ยอดและใบตำพอก

ข้อมูลทางเภสัชวิทยา : สารที่สกัดจากต้นนั้นจะมีฤทธิ์ในการยับยั้ง การเจริญเติบโตของเชื้อ Staphylococcus Aureus

สาร เคมีที่พบ : ทั้งต้นมีสารพวก น้ำมันระเหย โปแตสเซียมคลอไรด์ มีกรดอินทรีย์ กรดอมิโน อัลคาลอยด์ ฟลาโวนอยด์ coumarin, B-sitosterol, friedelin และ stigmasterol