Pages

หญ้างวงช้าง

หญ้างวงช้าง
ชื่ออื่น หวายงวงช้าง (ศรีราชา), หญ้างวงช้างน้อย (เหนือ) ผักแพวขาว (กาญจนบุรี), กุนอกาโม (มลายู)
ชื่อวิทยาศาสตร์  Heliotropium indicum Linn. 
ชื่อวงศ์   BORAGINACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นพืชล้มลุกเกิดตอนฤดูฝน ถึงหน้าแล้งตาย สูง 15-50 เซนติเมตร มีขนหยาบๆ ปกคลุมทั้งต้น
ใบ ออกสลับกัน ลักษณะทรงกลมรีหรือป้อมๆ ปลายใบแหลมสั้น กลางใบกว้างออก ฐานใบเรียวต่อลงมาถึงก้านใบ ตัวใบยาว 3-8 เซนติเมตร มีขน ผิวใบมีรอยย่นขรุขระ ขอบใบมีรอยหยักเป็นคลื่น ช่อดอกเกิดที่ยอดหรือซอกใบ ยาว 3-10 เซนติเมตร
ดอก เกิดอยู่ทางด้านบนด้านเดียว บานจากโคนไปปลายช่อดอก ปลายช่อโค้งงอคล้ายงวงช้างชูขึ้น กลีบเลี้ยงสีเขียว มี 5 กลีบ กลีบดอกสีฟ้าใกล้ขาวติดกันเป็นหลอด ที่ขอบมีรอยแยกตื้นๆ แบ่งเป็น 5 กลีบบานออกกลีบดอก ประมาณ 5 มิลลิเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-3.5 มิลลิเมตร มีเกสรตัวผู้ 5 อันติดอยู่ ด้านในมีก้านเกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่เป็นรูปจานแบนๆ ผลยาว 4-5 มิลลิเมตร เกิดจากการที่รังไข่ 2 อันรวมตัวติดกัน
มักพบตามที่ชื้นแฉะ เช่น ตามริมแม่น้ำ ลำคลอง หรือทางน้ำ แหล่งน้ำต่างๆ ท้องนาหรือตามที่รกร้างต่างๆ ตามวัดวาอารามทั่วๆ ไป และมีปลูกเก็บมาขายเป็นยาสดตามสวนยาจีนต่างๆ

สรรพคุณทางสมุนไพร
ใบ   รสเย็นเฝื่อน  ตำคั้นเอาน้ำหยอดหู แก้ฝีในหู ปวดหู หยอดตาแก้ตาฟาง อมกลั้วคอ แก้เจ็บคอ แก้กระหายน้ำ ดื่มลดน้ำตาลในเลือด ทาแก้สิว

ดอก,ราก   รสเย็นเฝื่อน ต้มดื่มพอเหมาะ ขับระดู ใช้มากอาจทำให้แท้งได้

ราก   รสเย็นเฝื่อน คั้นเอาน้ำหยอดตา แก้ตาเจ็บ ตามัว

ทั้งต้น   รสเย็นเฝื่อน ต้มดื่ม ดับพิษร้อน แก้ปวดอักเสบ แก้เจ็บคอ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ  ขับปัสสาวะ  แก้ไข้ แก้ปากเปื่อย  แผลบวม มีหนอง  แก้ตาฟาง  แก้พิษตานซาง
วิธีและปริมาณที่ใช้
กิน ใช้ยาสดหนัก 30-60 กรัมต้มกิน หรือคั้นเอาน้ำมาผสมน้ำผึ้งกิน
ใช้ภายนอก ต้มเอาน้ำชะล้าง หรือคั้นเอาน้ำมาอมบ้วนปาก
ตำรับยา
1. แก้ปวดท้อง ใช้ต้นนี้สดหนัก 30-60 กรัมต้มน้ำกิน
2. แก้ปอดอักเสบปอด มีฝีเป็นหนองมีหนอง ในช่องหุ้มปอด ใช้ทั้งต้นสด 60 กรัม ต้มผสมน้ำผึ้งกิน หรือใช้ทั้งต้นสด 60-120 กรัม ตำคั้น เอาน้ำมาผสมน้ำผึ้งกิน
3. แก้ปากเปื่อยเน่า ใช้ใบสดตำคั้นเอาน้ำอมบ้วนปากวันละ 4-6 ครั้ง
4. แก้แผลฝีเม็ดเล็กๆ มีหนอง ใช้รากสด 60 กรัม ผสมเกลือเล็กน้อย ต้มน้ำกิน แล้วใช้ใบสดตำกับข้าวเย็นพอแผลอีกด้วย
ข้อห้าม หญิงมีท้องห้ามกิน อาจแท้งได้