Pages

หญ้าพันงูขาว

หญ้าพันงูขาว
ชื่ออื่น  หญ้าพันงู หญ้าพันงูเขา หญ้าตีนงูขาว ควยงู หญ้าโคยงู
ชื่อสามัญ  Prickly chaff-flower
ชื่อวิทยาศาสตร์  Achyranthes aspera Linn.
วงศ์   Amaranthaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูงประมาณ 30 - 100 ซม. หรือมากกว่า แตกกิ่งก้านเป็นคู่ๆ และสามารถทอดกิ่งนอนไปตามพื้นดินแล้วเกิดรากบริเวณข้อได้ ใบเดี่ยวรูปรีแกมขอบขนานหรือไข่กลับ ปลายใบเรียวแหลมถึงกลม โคนสอบแคบมน ผิวใบมีขนสั้นละเอียดสีขาวนุ่มเกาะติดจำนวนมาก ดอกออกเป็นช่อยาวที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยเกาะติดห้อยหัวแนบกับก้านช่อ และมีจำนวนมาก ดอกย่อยมีกลีบเลี้ยงที่ส่วนปลายเป็นหนามแหลมแข็ง ผลมีผิวเรียบรูปทรงกระบอกปลายตัด เมล็ดรูปทรงกระบอกรีหัวและท้ายเรียว ผิวเรียบสีน้ำตาลเหลือง
สรรพคุณทางสมุนไพร
ทั้งต้น ช่วยย่อยอาหาร แก้ริดสีดวงทวาร แก้ปวดเอว แก้ปวดเมื่อยจากโรคไขข้ออักเสบ
ราก ทำให้เลือดไหลเวียนคล่อง ลดบวมน้ำ ขับปัสสาวะเป็นเลือด แก้ประจำเดือนไม่มาตามปกติ ปวดข้อ บิด มาลาเรีย
ต้น ขับประจำเดือน แก้ขัดเบา ขับปัสสาวะ
ใบ แก้โรคในลำคอ แก้คออักเสบเป็นเม็ดยอดในคอ แก้โรคในลำคอเป็นเม็ดเป็นตุ่ม
ดอก แก้เสมหะที่คั่งค้างในทรวงอก ละลายก้อนนิ่ว แก้สะอึก แก้แมลงสัตว์กัดต่อย
เพิ่มเติม
หญ้าพันงูขาวเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่หมอพื้นบ้านทุกพื้นที่รวมทั้งชาวบ้านธรรมดาๆ ก็รู้ว่าหญ้าพันงูเป็นยาขับนิ่ว ขับปัสสาวะ ใช้เรื่องนี้เป็นหลัก การนำมาใช้นั้นนิยมใช้ส่วนรากของหญ้าพันงูต้มกิน หรือหมอยาบางคนจะถอนทั้งห้าต้มกินก็ได้ แต่ก็มีหมอยาบางท่านนำทั้งต้นมาเผาให้เป็นฝุ่นก่อน เอาผ้าห่อแล้วแช่กินน้ำ เพื่อแก้นิ่ว แก้อาการปัสสาวะไม่ออก ปัสสาวะหยดย้อย แก้ท้องมาน บวมน้ำ นิยมใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นเช่น หญ้าขัดมอญ ไมยราบ เป็นต้น หญ้าพันงูเป็นยาต้มบำรุงกำลังของหมอยาไทยใหญ่ และยาต้มบำรุงร่างกายของหญิงวัยหมดประจำเดือนของหมอยาปราจีนบุรี และเชื่อว่ายาต้มดังกล่าวยังช่วยแก้ปวดเอว แก้ปวดเมื่อยจากโรคไขข้ออักเสบได้อีกด้วยโดยใช้ทั้งห้าต้มกิน หรืออาจต้มรวมกับสมุนไพรตัวอื่นเช่น กรดน้ำ เพื่อเสริมฤทธิ์กัน  ใช้ใบของหญ้าพันงูขยี้ทารักษาแผลสด ห้ามเลือด รวมทั้งใช้ใบมาตำพอกแก้ฟกช้ำ แก้อักเสบเช่น ถูกไม้ตำ หรือทาแก้โรคผิวหนัง ถูกตะขาบกัด เป็นต้น
ข้อควรระวัง : ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์