Pages

หัสแดง(ว่านไก่น้อย)

หัสแดง, ว่านไก่น้อย
ชื่ออื่น  กูดผิป่า, กูดพาน (เหนือ), กูดเสือ, โพสี (ปัตตานี), ขนไก่น้อย (เลย), แตดลิง (ตราด), นิลโพสี (สงขลา,ยะลา), ละอองไฟฟ้า (กลาง), เกาแซ, กิมซีม้อ (แต้จิ๋ว) , อุ้งตีนหมี เฟิร์นอุ้งตีนหมี(ใต้)
ชื่อสามัญ  Scythian Lamb, Asian Tree Fern
ชื่อวิทยาศาสตร์    Cibotium barometz. J.Sm. 
ชื่อวงศ์   DICKSONIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เป็นเฟิร์นดินขนาดใหญ่ มีเหง้าเป็นแท่ง เหง้าและใบอ่อนมีขนยาวปกคลุม ขนมีสีเหลืองทองเป็นเงามัน ก้านใบ อวบอ้วนได้ถึง 2 ซ.ม. ยาวได้มากกว่า 1.5 ม. ปกคลุมแน่นด้วยขนยาว สีเหลืองทองเป็นเงามัน ขนยาวได้มากกว่า 4 ซ.ม.   เหง้าเมื่อยาวมากมักทอดนอนไปกับผิวดิน ก้านใบชูตั้งขึ้น อยู่รวมกันที่ปลายยอด ก้านใบไม่ติดกับตัวเหง้า ตัวก้านใบอวบน้ำ มีขนยาวปกคลุมแน่นที่โคนก้านและตอนเป็นใบอ่อนงอกใหม่ ด้านหน้ามีร่องยาวไปตามความยาวก้าน ขนยาวด้านหลังแน่นกว่าด้านหน้า เมื่อแก่ก้านมีสีน้ำตาลถึงดำ ก้านใบ ยาวได้มากกว่า 1.5 ม. (ไม่รวมตัวใบ)  ลักษณะใบ ใบขนาดใหญ่ เป็นใบแบบประกอบแบบขนนก 3-4 ชั้น ตัวรูปขอบขนาน-กึ่งสามเหลี่ยม ปลายสอบแหลม ขนาดใบยาวได้ถึง 2 ม. และกว้างถึง 1 ม. ใบปกติ (sterlie frond) และใบสปอร์ (fertile frond) รูปร่างเหมือนกัน แกนกลางใบ เป็นสีส้มหรือน้ำตาล เป็นร่องด้านบน มีขนปกคลุมเล็กน้อยใบย่อยชั้นแรกด้านข้าง ใบคู่ล่างมีขนาดใหญ่สุด และคู่ถัดไปค่อยๆ เล็กลง ไปถึงปลายใบ ใบย่อยชั้นแรก รูปกึ่งสามเหลี่ยม ปลายแหลม ใบย่อยสุด มีก้านใบสั้น ใบรูปขอบขนานปลายแหลม ขอบหยักลึกแบบใบประกอบขนนก  อับสปอร์เกิดบนใบย่อย มีเยื่ออินดูเซียรัดรอบเป็นรูปถ้วยกลม และเยื่ออินดูเซียมปิดฝาบน เมื่อสปอร์แก่เยื่อด้านบนเปิดออกเหมือนฝาถ้วย

สรรพคุณทางสมุนไพร
เหง้า   รสขมชุ่มสุขุม บำรุงกำลัง บำรุงตับ ไต  แก้ปวดหลังปวดเอว ปวดเมื่อยตามร่างกาย แก้อ่อนเปลี้ยตามแขนขา แก้เบาหยดย้อย เหลืองขุ่น แก้ตกขาว ห้ามใช้กับรายที่มีอาการปัสสาวะขัด ปากขม ลิ้นแห้ง
ขน   รสฝาด บดเป็นผงโรยสมานแผลสด แผลจากถูกปลิงดูดเลือด