Pages

นนทรี

นนทรี

ชื่อท้องถิ่น
นนทรี  ชำเลง

ชื่อวงศ์
CAESALPINEAE

ชื่อวิทยาศาสตร์
- Peltophorum pterocarpum(DC)
- Peltophorum inerme Lanes

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

นนทรี เป็นไม้ยืนต้นสูง 15-30 เมตร กิ่งผลัดใบ เรือนยอดเป็นรูปร่มแผ่กว้าง เปลือกต้นสีเทา ลำต้นเปลาตรง ยอดอ่อนสีน้ำตาลแดง โตเร็ว ชอบแดดจัดใบ ใบคล้ายสะตอ  ใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น  ปลายคู่ เรียงเวียนสลับถี่ที่ปลายกิ่ง ก้านใบย่อย 10 - 22 คู่ ไม่มีก้านใบย่อย ใบย่อย 6 - 16 คู่ รูปขอบขนานกว้าง 0.5 - 1 เซนติเมตร ยาว 1 - 2.5 เซนติเมตร ปลายใบมนและเว้าเล็กน้อย โคนใบมนและเบี้ยว ดอกช่อออกที่ซอกใบปลายกิ่ง ช่อดอกห้อยลงยาว 15 -20 เซนติเมตร กลีบดอก 5 กลีบ สีเหลือง กลีบดอกซ้อนกันแน่น มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 - 1.5 ซม. เกสรตัวผู้ 10 กัน ออกดอกเดือนมกราคม - มีนาคม ดอกนนทรีนั้นมีกลิ่นหอมอ่อนๆ เกิดเป็นช่อกลุ่มใหญ่ที่ปลายกิ่ง แต่ดอกงดงามนั้นมีอายุอยู่บนต้นได้ไม่นานนักก็จะร่วงลงมากองอยู่ที่พื้นโคนต้น ดูเหลืองไปทั้งบริเวณเหมือนปูพรมธรรมชาติเพื่อประดับราวป่า ให้มีชีวิติชีวา ช่อดอกนนทรีชนิดที่เราคุ้นตาและปลูกเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นี้มีช่อดอกใหญ่ยาวและตั้งตรง ก้านดอกย้อยสั้น หลังจากดอกร่วงไปหมดแล้ว เราจะเริ่มสังเกตเห็นได้ว่าที่ปลายกิ่งนนทรีปรากฏการพัฒนาตัวของฝักซึ่งจะขยายตัวใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ในเวลาไม่กี่เดือน ทั้งต้นดูราวประดับด้วยโล่สีสนิมเหล็กกล้าเป็นมัน งดงามแกร่งกล้าไปอีกแบบ ในช่วงนี้ต้นนนทรีดูเกือบจะไม่มีใบเอาเสียเลย ฝักนนทรีจะติดคาต้นอยู่จนถึงฤดูฝนจนกว่าจะเปราะหลุดออกจากต้นไป ฝรั่งนิยมเรียกฝักนนทรีว่า copper shield pods ด้วยเหตุนี้เอง


ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร
ยอด ฝักอ่อนใช้เป็นอาหารประเภทผักเหนาะรสชาติฝาด มัน

ส่วนที่ใช้ขยายพันธุ์
เมล็ด ต้นอ่อน
ประโยชน์
ใช้ไม้ทำประตูรั้ว เครื่องเรือน มอดปลวกไม่กิน เชื่อกันว่าเป็นไม้มงคล
สรรพคุณทางสมุนไพร
เปลือก เปลือกต้นนนทรีนั้น เมื่อนำไปต้มแล้วจะให้สีน้ำตาลเหลือง ใช้ในการย้อมผ้าฝ้ายบาติกในเกาะชวา อินโดนีเซีย นอกจากนี้เปลือกนนทรียังมีขายกันในร้านสมุนไพรในเกาะชวาด้วย เพราะเป็นแหล่งที่มาของแทนนิน ใช้รักษาโรคท้องร่วง หรือนำไปเคี่ยวเข้าน้ำมัน นวดแก้ตะคริว กล้ามเนื้ออักเสบ   รับประทานเป็นยากล่อมเสมหะ แก้โรคท้องร่วง เป็นยาขับลมปลูกเป็นไม้ประดับ