Pages

โด่ไม่รู้ล้ม

โด่ไม่รู้ล้ม
ชื่ออื่น : คิงไฟนกคุ่ม  หญ้าไฟนกคุ่ม(อีสาน)  หนาดมีแคลน(สุราษฎร์ธานี)  ตะชีโกวะ(เหนือ+กะเหรี่ยง)
โด่ไม่รู้ล้มเป็นสมุนไพรที่ใครเห็นครั้งเดียวก็จำได้ เพราะใบของโด่ไม่รู้ล้มจะเรียงตัวกันใกล้ผิวดิน ขอบใบหยัก มีขนปกคลุมทั้งสองด้าน ที่แปลกคือก้านช่อดอกยาวโด่ ชู ขึ้นมาไม่ยอมล้มลงแม้ต้นจะแห้งตาย ซึ่งด้วยลักษณะเช่นนี้นี่เอง จึงได้ชื่อว่า โด่ไม่รู้ล้ม แต่ดูเหมือนว่าชื่อโด่ไม่รู้ล้มจะเป็นที่นิยมเรียกกันในพ่อหมอยาในแถบภาคกลาง ส่วนพ่อหมอยาแถวๆ อีสานจะเรียกชื่อสมุนไพรชนิดนี้คล้ายๆ กันแทบทุกจังหวัดว่า คิงไฟนกคุ่ม ขี้ไฟนกคุ่ม ไกนกคุ่ม เพราะเจ้านกคุ่ม (นกในวงศ์นกกระทา) ชอบมานอนซุกในกอของสมุนไพรชนิดนี้ ส่วนหมอยาที่อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปางเรียกว่า ช้างย่ำปื๊ด หมอยาไทยใหญ่เรียกว่า หญ้าแสนหวี หมอยาบางท่านเรียก หญ้าไอ (เพราะแก้ไอได้ดี) ส่วนบางพื้นที่เรียกตามลักษณะของราก กล่าวคือโด่ไม่รู้ล้มจะมีรากมากมายจึงเรียกว่า หญ้าสามสิบสองรากเราจะพบโด่ไม่รู้ล้มได้ตามพื้นที่รกร้าง ว่างเปล่าในทุกๆ ภาค และเป็นสมุนไพรที่หมอยาส่วนใหญ่รู้จัก ซึ่งพอจะกล่าวได้ว่าสมุนไพรชนิดนี้เป็นสมุนไพรพื้นฐานของหมอยาพื้นบ้านทั่วไป แต่สิ่งที่น่าฉงนก็คือมันมีชนิดเล็กกับชนิดใหญ่ ซึ่งคนไทยใหญ่เรียก ชนิดเล็กว่า หญ้าแสนหวีอ้อน ส่วนชนิดใหญ่เรียกว่า หญ้าแสนหวีใหญ่ และหมอยาไทยใหญ่เชื่อว่า หญ้าแสนหวีอ้อนจะมีฤทธิ์ดีกว่าชนิดใหญ่ และบางครั้งก็งงๆ เพราะโด่ไม่รู้ล้มมีพี่น้องคล้ายๆ กันอีกต้น ชื่อ กระต่ายขาลา ในตำรับยาของพ่อประกาศ ใจทัศน์ (หมอยาจังหวัดยโสธร) ใช้รากกระต่ายขาลาคู่กับรากคิงไฟนกคุ่ม ต้มกินแก้ปวดเมื่อย บำรุงกำลังและแก้ไอ
สรรพคุณเด่น
โด่ไม่รู้ล้มที่หมอยาทุกภาครับรู้ร่วมกันคือ การต้มหรือดองกินเป็นยาบำรุงกำลัง อาจจะเป็นเพราะชื่อ โด่ไม่รู้ล้ม ก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมต้มหรือดองร่วมกับยาบำรุงกำลังตัวอื่น เช่น กำลังช้างสาร ม้ากระทืบโรง กำลังทรพี เป็นต้น
          แก้ไอ โด่ไม่รู้ล้ม มีชื่ออีกชื่อคือ หญ้าไอ เพราะสรรพคุณที่เด่นมากของสมุนไพรชนิดนี้คือการแก้ไอ ไม่ใช่เฉพาะเพียงแต่หมอยาเท่านั้นที่รู้จักใช้โด่ไม่รู้ล้มเป็นยาแก้ไอ แม้แต่แม่บ้านธรรมดาก็รู้และมีประสบการณ์ในการใช้ด้วย โดยจะใช้รากหรือใช้ทั้งห้าก็ได้ ต้มกิน แก้ไอ แก้หลอดลมอักเสบ ส่วนตำรับของหมอยาพื้นบ้านเมืองเลยก็มีการใช้คิงไฟนกคุ่มผสมกับง้อบแง็บ แก่นไม้กระบก แก่นไม้อีเลี่ยน แช่น้ำกินแก้ไอเช่นกัน นอกจากจะใช้แก้ไอแล้ว โด่ไม่รู้ล้มยังมีสรรพคุณในการแก้ไข้ได้อีกด้วย แม้สรรพคุณในการแก้ไข้จะเป็นที่นิยมรองลงมาจากการแก้ไออยู่บ้าง แต่หมอยาหลายแห่งนิยมใช้โด่ไม่รู้ล้มในสรรพคุณนี้ โดยใช้ทั้งห้า หรือส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ต้มกิน และยังใช้แก้ตานซางในเด็ก (เด็กที่มีอาการหัวร้อน ก้นเย็น กินไม่ได้และหงุดหงิดง่าย) โดยเอาส่วนรากมาแช่น้ำให้เด็กกิน
ขับนิ่ว ขับปัสสาวะโด่ไม่รู้ล้มเป็นสมุนไพรที่ช่วยในการขับปัสสาวะที่ดีตัวหนึ่ง ซึ่งมักใช้ประกอบกับสมุนไพรตัวอื่นในการเป็นยาขับนิ่ว
รักษาแผล รักษาโรคผิวหนัง โด่ไม่รู้ล้มยังเป็นหมอรักษาโรคผิวหนังที่ดีไม่น้อย แม้คนจะไม่นิยมใช้เป็นยาทางผิวหนังเท่ากับกะเม็ง แต่ในพื้นที่ที่ไม่มีกะเม็งหมอยาจะใช้โด่ไม่รู้ล้มเป็นยารักษาแผลมีหนองแทน โดยจะเคี่ยวกับน้ำมันเก็บไว้ใช้ทาหรือใช้การต้มน้ำล้างหรืออาบก็ได้ และใช้ต้มอาบหลังคลอดบุตร
รักษาฟันหมอยาในแถบจังหวัดปราจีนบุรีจะใช้รากของโด่ไม่รู้ล้มเป็นยารักษาฟัน โดยจะต้มกับเกลืออมรักษาฟันทำให้ฟันไม่ผุหรืออมแก้ปวดฟันก็ได้ หรือจะใช้รากคั่วแล้วแช่กับเหล้าอมแก้ปวดฟันก็ได้
ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้
ผู้หญิงมีครรภ์ห้ามรับประทาน หรือผู้ที่กลัวหนาวแขนขาเย็น คนที่กินแล้วมีอาการปวดมวนท้อง และไม่ควรต้มเข้มข้นเกินไป จะทำให้ปวดมวนท้อง