Pages

โล่ติ๊น(หางไหลแดง)

โล่ติ๊น
ชื่อท้องถิ่น : หางไหลแดง
ชื่ออื่น : กะลำเพาะ เครือไหลน้ำ หางไหลแดง ไหลน้ำ อวดน้ำ และโพตะโกซ่า
ชื่อสามัญ : Tuba root
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Derris sp.
ชื่อวงศ์ : LEGUMINOSAE
ความเป็นมา
มีรายงานว่าชาวจีนเป็นผู้นำโล่ติ๊นมาปลูกเมื่อปี พ.ศ.2470 โดยใช้ส่วนของรากทุบแช่น้ำค้างคืน สังเกตว่าน้ำที่แช่โลติ๊นขุ่นขาวคล้ายน้ำซาวข้าว ก็จะนำไปรดสวนผักเพื่อฆ่าหนอน หรือแมลงที่มากัดกินผัก ซึ่งนับว่าได้ผลดี ในสมัยต่อมาได้มีผู้วิเคราะห์รากโลติ๊นพบว่ามีสารที่มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวมีพิษ เรียกชื่อสารพิษนี้ในเวลาต่อมาว่า โรตีโนน (Rotinone)สารพิษนี้นอกจากจะมีคุณสมบัติในการเบื่อปลาแล้ว ยังพบว่ามีประสิทธิภาพในการฆ่าแมลงอีกด้วย โดยแมลงจะดูดซึมเข้าไปในกระเพาะ หรือใช้ในรูปของสารไล่แมลง เป็นสารอินทรีย์สลายเร็ว ไม่ตกค้างในพืชอาหารและสิงแวดล้อมในเมืองไทยพบว่า มีพืชวงศ์เดียวกับโลติ๊นประมาณ 21 ชนิด แต่มีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นที่พบว่า มีสารพิษมากและนิยมปลูกเป็นการค้า คือ ชนิดแดง และชนิดขาว ซึ่งพบว่ามีสารพิษอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย 4-5 เปอร์เซนต์ ในไทยพบชนิดแดงมากกว่าขาว โดยพบมากตามบริเวณแม่น้ำปิง ตั้งแต่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก ส่วนภาคกลางพบมากแถวปราจีนบุรี ชลบุรี จันทบุรี และท้องที่ใกล้เคียง ในภาคกลางนอกจากจะเรียกว่า หางไหล อาจเรียกชื่อตามท้องถิ่นที่มีพืชนี้ขึ้นว่า อวดน้ำ ไหลน้ำ กะลำเพาะ และโพตะโกซ่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบบริเวณต้นน้ำและเชิงเทือกเขาภูพาน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นโดยทั่วไปมีลักษณะกลมใบใบอ่อนและยอดมีขนอ่อนสีน้ำตาลปนแดง เถาหรือลำต้นส่วนที่แก่มีสีน้ำตาลปนแดงเช่นกัน แต่จะเริ่มมีสีเขียวเห็นชัดตรงปล้องที่อยู่ก่อนถึงยอดประมาณ 2-3 ปล้อง ใบแก่มีสีเขียว ในก้านใบหนึ่งๆ จะมีใบตั้งแต่ 5 ถึง13 ใบ โดยใบจะขึ้นเป็นคู่ๆตรงข้ามกัน 2-4 คู่ ใบคู่แรก (นับจากโคนก้านใบ) จะมีขนาดเล็กที่สุด และเริ่มใหญ่ขึ้นเป็นลำดับ ใบสุดท้ายที่อยู่ตรงยอดจะเป็นใบเดี่ยว ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดก้านใบแต่ละก้านจะขึ้นบนลำต้นสลับด้านกัน
ใบมีลักษณะคล้ายรูปไข่ กว้างประมาณ 3.0 - 9.5 ซ.ม. และยาวตั้งแต่ 6.5 - 27.0 ซ.ม. โคนใบเล็กเรียวขึ้นไปและปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ พื้นใบด้านบนสีเขียวลักษณะมัน เส้นแขนงลักษณะคล้ายก้างปลาได้ชัด แต่ไม่ยาวจนชิดขอบใบ ด้านท้องใบมีสีเขียวและเห็นเส้นใบชัดกว่าด้านบน เส้นใบมีลักษณะเขียวปนน้ำตาลดอกออกเป็นช่อ มีลักษณะคล้ายดอกแคฝรั่ง ดอกตูมมีสีชมพูอมม่วง เมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีชมพูอ่อน และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีขาว ช่อดอกออกตามลำต้น แต่ละช่อยาวประมาณ 20-25 ซ.ม.ผลเกิดจากการผสมเกสร มีลักษณะเป็นฝักแบน ฝักอ่อนมีสีเขียวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนแดงเมื่อฝักแก่ ภายในฝักมีเมล็ด ซึ่งมีลักษณะกลม และแบนเล็กน้อย สีน้ำตาลปนแดงเมื่อฝักแก่จะแยกออกจากกัน ทำให้เมล็ดร่วงลงพื้นดินเมื่อมีความชื้นพอเหมาะ เมล็ดก็จะงอกและเจริญเติบโตเป็นลำต้นต่อไปพืชชนิดนี้มีทรงพุ่มหนาทึบ อาจใหญ่หรือเล็กกว่าขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม สามารถปลูกเป็นไม้ร่มหรือไม้ดอกก็ได้

การปลูก
การขยายพันธุ์
ขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเมล็ด ใช้เถาที่แก่พอประมาณ คือเถาที่มีสีน้ำตาลขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ซม. ขึ้นไป หรือมีข้อ 3-4 ข้อ ตัดเฉียงเป็นท่อน ๆ ละ 20-30 ซม. ปักชำในถุงพลาสติกที่มีขี้เถาแกลบผสมดิน อัตราส่วน 2:1 ก่อนปักชำจุ่มท่อนพันธุ์ในสารละลายเซราดิค นัมเบอร์2 ปักชำกิ่งทำมุม 45 องศากับผิวดิน ภายใน 3 สัปดาห์ จะมีรากงอกออกมา และมีตุ่มขึ้นตรงข้อ ซึ่งตุ่มนี้จะแตกเป็นต้นอ่อนเจริญเติบโตต่อไป กิ่งปักชำนี้สามารถย้ายปลูกในแปลงภายใน 6 ถึง 9 สัปดาห์ บางครั้งเกษตรกรอาจปักชำในแปลงเพาะและถอนย้ายไปปลูกในแปลงใหญ่ ซึ่งวิธีนี้รากกระทบกระเทือนตอนย้ายปลูก ทำให้ต้นกล้าตายมาก
ระยะปลูก
1.5 x1.5 เมตร 700 ต้นต่อไร่
การใช้ประโยชน์
การใช้ประโยชน์ทางการเกษตร
สารพิษในโล่ติ้น นอกจากจะมีคุณสมบัติในการเบื่อปลาแล้ว ยังพบว่าเมื่อพ่นบนตัวแมลง สารพิษจะถูกดูดซึมเข้าไปในกระเพาะ ทำให้แมลงตายได้ หรือใช้ในรูปของสารไล่แมลง การใช้สารพิษอาจใช้ในรูปของสารละลายหรือในรูปผง ถ้าใช้ในรูปผงจะมีประสิทธิภาพใน การฆ่าหมัด เห็บ ไรไก่ ปลวก แมลงวัน เรือด เพลี้ยอ่อนบางชนิด หนอนเจาะผัก มวนปีก แก้ว ด้วงเต่าแตง ด้วงหมัดผัก เพลี้ยจั๊กจั่นมะม่วงหนอนเจาะกะหล่ำปลี และศัตรูพืชผักต่าง ๆ เป็นต้น สารพิษในโล่ติ้นสามารถใช้พ่นโดยตรงบนต้นอ่อนและใบอ่อนของพืช โดยไม่เกิดอันตรายกับพืชเพราะสารนี้เป็นสารอินทรีย์ที่ได้จากพืช สลายตัวเร็ว ไม่มีผลตกค้างในพืชอาหารและสิ่งแวดล้อม
เนื่องจากโล่ติ๊นเป็นพืชตระกูลถั่ว สามารถปลูกเพื่อไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินแล้วยังใช้ ปลูกเป็นพืชคลุมดิน เพื่อป้องกันการสูญเสียความชื้นจากดิน และป้องกันการชะล้างของดินได้อีกด้วย
วิธีใช้ทางการเกษตร
ใช้รากที่ทุบแล้ว 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 1 ปีบ แช่ไว้ 2 วัน สังเกตว่าน้ำที่แช่โล่ติ๊นขุ่นขาว คล้ายน้ำซาวข้าว กรองเอาแต่น้ำ นำไปฉีดแปลงพืชผลในช่วงที่มีแดดอ่อน เพื่อฆ่าหนอนและแมลงชนิดต่าง ๆ นอกจากนั้นยังใช้ฆ่าเหา เรือด และเบื่อปลา กุ้ง หอย ปู เพื่อเตรียมสระเลี้ยงสัตว์น้ำ วัยอ่อนเป็นอย่างดี
ประโยชน์ทางยา
ในสมัยโบราณแพทย์ตามชนบทได้ใช้เถาโล่ติ๊นผสมกับยาอื่นๆเพื่อปรุงเป็นยาขับระดูสตรี แก้ระดูเป็นลิ่มหรือก้อน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า แพทย์โบราณทางจังหวัดสุโขทัยใช้เถาโล่ติ๊นตากแห้ง และหั่นเป็นชิ้นเล็กๆสำหรับดองสุรารับประทาน เพื่อใช้เป็นยาขับลมและบำรุงโลหิตยาถ่ายเส้นเอ็น ถ่ายลมและถ่ายเสมหะอีกด้วย แต่การใช้พืชสมุนไพรทุกชนิดอาจมีผลข้างเคียง ฉะนั้นเพื่อความปลอดภัยก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง