Pages

ผักกาดน้ำ

ผักกาดน้ำ
ชื่ออื่น  หญ้าเอ็นยืด , หญ้าเอ็นอืด(เชียงใหม่) ,หมอน้อย,เชียจ่อยเช่า, ตะปุกชี้,
ฮำผั่วเช่า(จีน)

ชื่อสามัญ   Plantain

วงศ์ Plantaginaceae

ชื่อวิทยาศาสตร์  Plantago major Linn.

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลักษณะ เป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นอยู่ใต้ดิน ใบงอกขึ้นมาจากดิน ก้านยาว ใบรูปกลม โคนเรียวแหลม ปลายป้านแหลมหนา คล้ายใบผักคะน้า เส้นใบวิ่งตามยาว 5 เส้น สีเขียวไม่เข้ม ดอกเล็ก ๆ ไม่มีก้าน ออกเป็นช่อเล็กยาวติดตามก้านที่พุ่งจากดิน ลักษณะแห้งผลเล็กเมื่อแก่แตกกลาง มักเกิดตามที่ลุ่มทั้งที่มีน้ำท่วม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
สรรพคุณทางสมุนไพร
ผักกาดน้ำอุดมไปด้วยเบต้าแคโรทีน วิตามินบี วิตามินซี และโอสถสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ช่วยกำจัดพิษออกจากร่างกาย เป็นยาระบายอ่อนๆ
ทั้งต้น ก้านใบ ต้มน้ำรับประทานเป็นยาแก้นิ่ว แก้ช้ำรั่ว (ทางเดินปัสสาวะอักเสบ ปัสสาวะกะปริบกะปรอย) แก้หนองใน ขับปัสสาวะ แก้ร้อนใน (ในน้ำจับเลี้ยงแก้ร้อนในที่ขายกันอย่างแพร่หลายนั้นมีผักกาดน้ำผสมอยู่ด้วย) ซึ่งการศึกษาทางเภสัชวิทยาสมัยใหม่พบว่า ผักกาดน้ำมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ ละลายก้อนนิ่วในไต ลดความดันโลหิต
ผักกาดน้ำในการเป็นยารักษาอาการอักเสบของเอ็นและกล้ามเนื้อ อาการปวดตึงที่คอ หลัง เอว แขน ขา การหกล้มฟกช้ำ ข้อเท้าแพลง จนเดินเขยกหรือเดินไม่ได้ รวมไปถึงการรักษาอาการกระดูกหัก กระดูกแตกนั้น ได้รู้เมื่อไปตามเก็บความรู้กับหมอยาไทยใหญ่ ซึ่งความรู้ในการใช้ผักกาดน้ำหรือที่ไทยใหญ่เรียกว่า หญ้าเอ็นยืด นั้น (ไทยใหญ่มักเรียกชื่อสมุนไพรตามสรรพคุณทางยาเป็นส่วนใหญ่) แม้แต่เด็กๆ ก็รู้ว่าหญ้าเอ็นยืดมีสรรพคุณในการรักษาเอ็น รักษากระดูก ดังนั้นเวลาหกล้มข้อเท้าแพลงเด็กไทยใหญ่จะไปเก็บหญ้าเอ็นยืดมาทุบๆ ให้น้ำออกแล้วพอกบริเวณที่ข้อเท้าแพลงนั้น เชื่อกันว่าหญ้าเอ็นยืดจะทำให้เส้นเอ็นคลายตัวบรรเทาความเจ็บปวดลงได้ นอกจากคนไทยใหญ่แล้ววัฒนธรรมการใช้หญ้าเอ็นยืดรักษาอาการเคล็ดขัดยอกนี้ยังเป็นที่แพร่หลายในบรรดาหมอเมือง ชาวล้านนาทั้งหลายด้วย โดยลูกประคบหรือยาจู้ของหมอเมืองนอกเหนือไปจากไพลและขมิ้นเหมือนลูกประคบทั่วๆ ไปแล้ว ยังมีสมุนไพรหลักตัวหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ก็คือ หญ้าเอ็นยืด
นอกจากจะใช้เป็นยาแก้อาการอักเสบของเอ็นและกล้ามเนื้อแล้ว หมอยาไทยใหญ่ยังใช้หญ้าเอ็นยืดเป็นยารักษากระดูกหัก กระดูกแตก โดยใช้ร่วมกับสมุนไพรตัวอื่น เช่น หญ้าติ๊ดสืบ (หญ้าถอดปล้อง) ตะไคร้ บอระเพ็ด เครือป๊กตอ (เถาวัลย์ปูน) เป็นต้น