Pages

มะกล่ำตาหนู



มะกล่ำตาหนู

ชื่อวิทยาศาสตร์ :
Abrus precatorius L.

ชื่อสามัญ : Jequirity bean, rosary bean, Buddhist rosary bean

วงศ์ :
LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE

ชื่ออื่น : กล่ำเครือ กล่ำตาไก่ มะกล่ำแดง มะแด๊ก มะขามไฟ ตาดำตาแดง ไม้ไฟ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

 เป็น ไม้เถาเลื้อย ใบประกอบมีใบย่อยออกเรียงเป็นคู่ ดอกออกเป็นช่อตามง่ามใบ กลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกสีขาว คล้ายดอกถั่ว ผลออกเป็นฝัก เมื่อแก่ฝักจะแตกออก ภายในมีเมล็ดสีแดง ขั้วสีดำ ผิวเรียบ แข็ง
การขยายพันธุ์ : ใช้เมล็ด
แหล่งที่พบ : พบขึ้นตามที่รกร้าง ป่าโปร่งทั่วไป
ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์ : ลำต้น ราก ใบ เมล็ด
สารสำคัญ
เมล็ดมะกล่ำตาหนูมีสาร glycoside abrin acid เมล็ดมะกล่ำตาหนู มีเปลือกที่แข็งมาก ตาหนู มีส่วนประกอบของ N-methyltryptophan, abric acid, glycyrrhizin, lipolytic enzyme และ abrin ซึ่งสูตรโครงสร้างของ abrin คล้าย ricin เป็นส่วนที่มีพิษสูงมาก หากเคี้ยว หรือกินเข้าไป เนื่องจากสารพิษจะไปทำลายเม็ดเลือดแดง ระบบทางเดินอาหาร และไต ซึ่งจัดว่าเป็นสารที่มีพิษมากที่สุดสารหนึ่งที่พบในพืชชั้นสูง
อย่างไรก็ตาม ถ้ากลืนเข้าไปทั้งเมล็ดที่มีเปลือกแข็งจะไม่เกิดพิษ เนื่องจากกระเพาะอาหารและลำไส้ไม่สามารถย่อยเมล็ดมะกล่ำตาหนูได้ แต่ถ้าเคี้ยวเมล็ดนี้ให้แตก และกลืนเข้าไปจะเกิดพิษต่อร่างกายส่งผลให้ตาบอดและถึงตายได้ ซึ่งสาร abrin นี้เมื่อถูกความร้อนจะสลายตัวง่าย แต่คงทนอยู่ในทางเดินอาหาร หากร่างกายได้รับเข้าไปเพียง 0.01 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หรือกินเพียง 1 เมล็ด ก็ทำให้เสียชีวิตได้ หากสารพิษถูกผิวหนังอาจทำให้เกิดผื่นคัน หากถูกตาจะทำให้เกิดอาการระคายเคืองและอาจถึงกับตาบอดได้ ส่วนที่ใบมีสาร abrusosides มีความหวานสูงแต่ไม่มีพิษ
สรรพคุณทางยาสมุนไพร
 ต้มน้ำกินเป็นยาแก้เจ็บคอ แก้ไอ แก้หวัด หลอดลมอักเสบ และช่วยขับปัสสาวะได้
 ใบสด มีรสหวาน ใช้ต้มกินแก้หวัด แก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้หลอดลมอักเสบ แก้ปวดตามข้อ หรือ นำมาใบมาตำพอกบริเวณที่ปวดบวม
**หมายเหตุ**   เนื้อในเมล็ด มีความเป็นพิษสูง หากกินจะถึงตายได้ทันที