Pages

มะคังแดง

มะคังแดง
ชื่ออื่น   
จงก่าขาว ตะลุมพุกแดง (กาญจนบุรี) ; จิ้งก่าขาว ชันยอด (ราชบุรี); ตุมกาแดง (กลาง) มะคัง (เชียงใหม่) มะคังป่า (กลาง เหนือ) ; มุยแดง ลุมพุกแดง (นครราชสีมา) โรคแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์   
Gardenia erythroclada Kurz.

ชื่อวงศ์   
Rubiaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
    ไม้ยืนต้น กึ่งไม้พุ่ม ขนาดกลาง สูง 6-12 เมตร ใบดกหนาทึบ ลำต้นและกิ่งก้านสีน้ำตาลแดง มีขนนุ่มๆเหมือนกำมะหยี่สีน้ำตาลแดงปกคลุมทั่วไป โคนต้นและกิ่งมีหนามโดยรอบ หนามขนาดใหญ่ พุ่งตรงออกเป็นระยะ ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปวงรีหรือรูปไข่กลับ กว้าง 8-15 เซนติเมตร ยาว 15-22 เซนติเมตร ผิวใบมีขนทั้งสองด้าน มีหูใบอยู่ระหว่างก้านใบ โคนใบมน หลังใบเรียบ ท้องใบมีขนสีขาวปกคลุม ขอบใบเรียบ ก้านใบมีขนสีขาว มีหูใบเป็นรูปสามเหลี่ยมหลุดร่วงง่าย ดอกช่อขนาดเล็กออกเป็นช่อสั้น ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยสีเขียวอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบ  โคนกลีบดอกติดกัน กลีบดอกรูปกลม เกสรตัวผู้เป็นเส้นติดกับกลีบดอกวางสับหว่างกลีบดอก ผลสด รูปกระสวย มีสันนูนจำนวน 5-6 สัน ผิวเรียบ ปลายผลมีกลีบเลี้ยงติดอยู่ เกิดตามป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด

สรรพคุณทางสมุนไพร
ยาพื้นบ้าน  ใช้  ต้น ต้มน้ำดื่ม แก้เลือดลมเดินไม่สะดวก ผสมกับหัวยาข้าวเย็น ต้มน้ำดื่มแก้ไตพิการ (โรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ มีปัสสาวะขุ่นข้น เหลืองหรือแดง มักมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้) แก้ปวดท้อง ขับพิษโลหิต และน้ำเหลืองเปลือกต้น ตำพอกแผลสด ห้ามเลือด ราก เป็นยาถ่าย ไม่ระบุส่วนที่ใช้ ใช้แก้ไข้