Pages

สายน้ำผึ้ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ Lonicera japonica Thunb.
ชื่อวงศ์  CAPRIFOLIACEAE
ชื่ออื่น   -

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ต้นสายน้ำผึ้ง มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชีย เช่น ประเทศไทย จีน ญี่ปุ่น จัดเป็นไม้เถาเลื้อยพัน มีอายุหลายปี มีความยาวประมาณ 9 เมตร เถามีลักษณะกลมเป็นสีน้ำตาล ส่วนเนื้อในเถากลวง แตกกิ่งก้านสาขาออกมากมายเป็นทรงพุ่ม ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาลปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการปักชำ ตอนกิ่ง และเพาะเมล็ด (แต่การปักชำเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด) โดยจัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ที่เจริญเติบโตได้ดีสวยในดินร่วนซุยและมีความชื้นปานกลาง มักพบขึ้นมากทางป่าแถบภูเขา
ใบสายน้ำผึ้ง ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกันเป็นคู่ ก้านใบยาวประมาณ 4-10 มิลลิเมตร ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ รูปไข่ รูปรี หรือรูปมนรี ปลายใบแหลมมีหางสั้น โคนใบมน หรือตัด หรือเว้าเข้าหากันคล้ายรูปหัวใจ ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 3-8.5 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเทาอมเขียว เนื้อใบอ่อนนุ่มมีขนขึ้นปกคุลมเล็กน้อย

ดอกสายน้ำผึ้ง ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ช่อละ 2 ดอก ก้านใบชูช่อสั้นมีขนนุ่ม ลักษณะของดอกเป็นหลอดเล็ก ๆ ยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร ส่วนปลายแยกเป็นรูปปาก กลีบดอกเป็นสีครีม โคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวยแหลมยาว ปลายแยกเป็นปาก 2 ปาก ล่างและบน ปากล่างมี 1 กลีบ ส่วนปากบน 4 กลีบ ดอกมีใบประดับคล้ายใบ 1 คู่ ส่วนนอกกลีบจะมีขนปกคลุมอยู่ กลีบรองดอกติดกัน ปลายแยกเป็นรูปสามเหลี่ยม ใจกลางดอกมีเกสรอยู่ 5 อันยื่นออกมา ดอกตูมหรือดอกที่เริ่มบานจะเป็นสีขาว พอต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองส้มหรือสีเหลืองทองประมาณ 2-3 วัน สามารถออกดอกได้ตลอดปี แต่จะออกดอกมากในช่วงฤดูฝน และดอกจะมีกลิ่นหอมในช่วงเย็นใกล้มืดจนถึงเช้าก่อนแดดออก
ผลสายน้ำผึ้ง ผลเป็นผลสด ลักษณะเป็นรูปทรงกลม มีขนาดประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ผิวผลเกลี้ยง เรียบเป็นมันเงา ผลเมื่อสุกจะเป็นสีดำ
สรรพคุณทางสมุนไพร
·       ทั้งต้น 
-ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ แก้แผลฝีต่างๆ
- แก้ท้องร่วง ตับอักเสบ โรคลำไส้
- ปวดเมื่อยตามข้อ
·       ดอกตูม
- ใช้รักษาโรคผิวหนัง
- ดอกคั้นรับประทานเป็นยาเจริญอาหาร
·       เถาสด - ใช้รักษา บิดไม่มีตัว (ท้องเสีย) ลำไส้อักเสบ
วิธีและปริมาณที่ใช้ :
          ใช้เถาสด 100 กรัม สับเป็นท่อนเล็กๆ ใส่ลงในหม้อเคลือบ เติมน้ำลงไป 200 มิลลิลิตร แช่น้ำไว้ 12 ชั่วโมง แล้วต้มด้วยไฟอ่อนๆ 3 ชั่วโมง แล้วเติมน้ำให้ได้ 100 มิลลิลิตร กรองเอาน้ำรับประทานวันละ 1.6-2.4 มิลลิลิตร ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ให้เพิ่มหรือลดขนาดของยาตามอาการ โดยทั่วไปเริ่มต้นให้รับประทาน 20 มิลลิลิตร ทุก 4 ชั่วโมง เมื่ออาการดีขึ้นให้รับประทานครั้งละ 20 มิลลิลิตร ทุก 6 ชั่วโมง หลังจากอาการท้องร่วงหายไปให้รับประทานต่ออีก 2 วัน
ข้อมูลจาก medthai.com