พริกนายพราน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tabernaemontana
bufalina Lour.
ชื่ออื่น เข็มดง พุดป่า (เลย), ช้าฮ่อม (ตาก), พริกผี
(ยโสธร), พุดน้อย พุดป่า พุทธรักษา (อุบลราชธานี), มะลิฝรั่ง (กรุงเทพมหานคร), เข็มดง พริกป่า พริกป่าใหญ่
พริกป่าเล็ก (ชลบุรี), พริกพราน (ประจวบคีรีขันธ์) เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น จัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ลำต้นเกลี้ยง
มีความสูงได้ประมาณ 1-4 เมตร กิ่งมีช่องอากาศ
ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์ในจีนตอนใต้ กัมพูชา และเวียดนาม
ส่วนในประเทศไทยพบได้ทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้ โดยมักขึ้นตามป่าดงดิบแล้ง
ป่าเบญจพรรณ และตามป่าละเมาะทั่วไป
ใบใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้าม ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนาน
รูปรี หรือรูปรีแคบแกมรูปไข่ ปลายใบเรียวแหลมหรือแหลมยาวคล้ายหาง โคนใบเป็นรูปลิ่ม
ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร เนื้อใบบาง
ผิวใบเกลี้ยง ก้านใบสั้น ยาวได้ประมาณ 0.3-0.7 เซนติเมตร
ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจุกตามซอกใบหรือปลายยอด
มีดอกย่อย 3-25 ดอก ก้านช่อดอกยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร ดอกเป็นสีขาวแกมเหลืองอ่อน ลักษณะของดอกเป็นรูปดอกเข็ม
กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ เป็นสีเขียวอ่อน ยาวเกือบ 2 มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมหรือรูปไข่ปลายแหลมยาว เรียงซ้อนกัน
บางครั้งขอบมีขนอุย ส่วนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ 1.2-1.7 เซนติเมตร ส่วนปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ยาวประมาณ 7-9
มิลลิเมตร ลักษณะเป็นรูปไข่ ดอกมีเกสรเพศผู้ 5 อัน ก้านเกสรสั้น อับเรณูเป็นรูปขอบขนาน ปลายเป็นติ่งแหลม
ท่อเกสรเพศเมียมีลักษณะเรียวยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร
ปลายเกสรแยกออกเป็น 2 แฉก รังไข่มี 2 ช่อง
แยกจากกัน ยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร
ผล ออกผลเป็นฝักคู่ ลักษณะโค้ง
รูปรีปลายเรียวแหลม คอดเว้าเป็นพูตื้น ๆ มีขนาดกว้างประมาณ 0.7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 0.9-1 เซนติเมตร
ผลย่อยแตกเป็นแนวเดียว ผิวผลเป็นมันสีเขียว ภายในมีเมล็ดประมาณ 6-8 เมล็ด เมล็ดแก่มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงสด
สรรพคุณทางสมุนไพร
- ตำรายาไทย ระบุว่า ทั้งต้นมีรสเย็น มีสรรพคุณเป็นยาแก้ไข้ แก้ร้อนใน ช่วยดับพิษร้อน ส่วนรากมีรสสุขุม ใช้เป็นยาแก้โรคลม ปรุงเป็นยาแก้โลหิตเป็นพิษเนื่องจากชอกช้ำ และช่วยแก้ช้ำใน (ราก, ทั้งต้น)[1]
- ยาพื้นบ้านมุกดาหาร จะใช้รากพริกนายพรานเป็นยาแก้ไข้ (ราก)
- ยาพื้นบ้านภาคกลาง จะใช้รากพริกนายพรานผสมกับรากต่อไส้และรากหนามพุงดอ ฝนกับเหล้าดื่มเป็นยาแก้ปวดท้อง (ราก)
- ยาสมุนไพรพื้นบ้านจังหวัดอุบลราชธานี จะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ท้องเสีย และช่วยสมานแผล (ราก)
- ยาพื้นบ้านทางภาคอีสาน จะใช้รากนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ แก้เจ็บคอ แก้ตกขาวของสตรี นำมาฝนกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอเป็นเลือด หรือตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาทาแก้ฝี