เกล็ดลิ่นใหญ่
ชื่ออื่น เกล็ดลิ่นใหญ่(นครราชสีมา) ลูบตีบต้น(เชียงใหม่) กาสามปีกใหญ่(สระบุรี) เกล็ดปลา (กาญจนบุรี)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllodium longipes (Craib.) Schindel.
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูง 1.5-2.5 เมตร แตกกิ่งก้านโปร่ง ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขน ปลายกิ่งย้อยลง ใบประกอบ แบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 3 ใบ ใบย่อยใบกลางรูปไข่แกมใบหอก กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 8-12 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ใบย่อยด้านข้าง กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 6-8 เซนติเมตร ใบข้างเล็กกว่าเล็กน้อย ขอบใบเรียบ หลังใบและท้องใบมีขน ก้านใบย่อยยาว 1.5-2 เซนติเมตร ดอกช่อ ออกเป็นกระจุกที่ซอกใบ ที่ปลายกิ่ง มีใบประดับ ลักษณะคล้ายเกล็ดปลาขนาดใหญ่ประกบหุ้มไว้ 2 ใบ สีเขียวไม่เข้มมาก ประกบซ้อนๆกัน เป็นรูปแท่งห้อยย้อยออกมา กลีบดอกสีขาว รูปดอกถั่ว มีขนาดเล็ก ผลเป็นฝักแบนยาวคอดเป็นข้อๆ กว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร ยาว 0.7-1 เซนติเมตร ผิวฝักมีขนปกคลุม พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด
สรรพคุณทางสมุนไพร
ราก แก้ไข้ ต้มน้ำดื่ม แก้ริดสีดวงทวารราก รสจืดเฝื่อน ต้มน้ำดื่ม แก้โรคตับพิการ (อาการผิดปกติของตับ) ผสมกับรากกระดูกอึ่ง รากกาสามปีกใหญ่ รากโมกมัน และรากหางหมาจอก ต้มน้ำดื่ม แก้คุณไสย (มีอาการผอมแห้ง ใจสั่น บางเวลาเพ้อคลั่ง ร้องไห้) เปลือกราก รสจืดเฝื่อน ตำพอกแก้ปวด แก้เคล็ดบวม ใบ รสจืด ต้มดื่มแก้ไข้ แก้ปัสสาวะดำ แก้ไข้จับสั่น