ตองหมอง
ชื่ออื่น
ตองหมอง ดอกฮักดาน ตองหมองดาน กระโดนดาน ไชหิน
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tadehagi godefroyanum (O.Ktze) Ohashi.
ชื่อวงศ์
Fabaceae
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่ม ลำต้นตั้งตรง สูง 1.5-3 เมตร ลำต้นมีข้อเด่นชัด มีขนสีขาวและนวลแป้ง แตกกิ่งก้านได้มาก ที่โคนต้น เรือนยอดเล็ก มีใบน้อย เปลือกสีเทานวล ใบประกอบชนิดมีใบย่อยใบเดียว เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน กว้าง 5-8 เซนติเมตร ยาว 12-15 เซนติเมตร ฐานใบรูปหัวใจ ปลายใบมน ปลายใบแหลม แผ่นใบด้านบนสีเขียวแกมเทา ด้านล่างสีขาวนวล มีขนสั้นๆขึ้นหนาแน่นที่ผิวใบทั้ง 2 ด้าน ก้านใบแผ่เป็นครีบแบน ขอบใบเรียบ ดอกช่อแบบกระจะ ออกที่ปลายกิ่ง ชูขึ้นเห็นเด่นชัด ยาวประมาณ 15-30 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นรูปคล้ายดอกถั่ว กลีบดอกสีม่วงแดง กลีบกลางรูปเกือบกลม กลีบคู่ล่างรูปขอบขนานแกมรูปไข่ เกสรเพศผู้มี 10 อัน เชื่อมกันเป็น 2 กลุ่ม เกสรเพศเมียมีรังไข่รูปแถบ มีขนสีขาว กลีบเลี้ยง เชื่อมติดกันตรงโคน ปลายแยกเป็น 4 กลีบ สีเขียวแกมแดง ผล เป็นฝักแบน คอดเป็นข้อๆ ประมาณ 3-5ข้อ มีขนหนาแน่น เฉพาะตรงสันของฝัก มี 3-5 เมล็ด พบขึ้นทั่วไปตามโขดหิน ดินดาน และลานหินของป่าเต็งรัง ออกดอกตลอดปี ยอดอ่อนและใบอ่อน มีรสฝาดใช้รับประทานเป็นผักสดได้
สรรพคุณทางสมุนไพร ยาพื้นบ้าน ใช้ ราก ต้มน้ำดื่ม แก้อาเจียน มีเลือดออกทั้งทางปาก และทวารหนัก รากผสมกับรากแกลบหนู ต้มรวมกันดื่ม รักษาถ่ายเป็นมูกเลือด