ทองกวาว
ชื่ออื่น : จอมทอง (ภาคเหนือ), ทองกวาวต้น (ภาคกลาง), กวาวก้าว (พายัพ) ทองพรมชาติ, ทองธรรมชาติ, จาน(ภาคอีสาน), ทองต้น (ราชบุรี), จ้า (เขมร)
ชื่อสามัญ : Flame of the forest.
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Butea monosperma O. Ktze.
วงศ์ : LEGUMINOSAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น : เป็นพรรณไม้ยืนต้น ที่มีทั้งขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 6-12 เมตร
ลักษณะของเปลือกลำต้นเป็นปมเป็นปุ่ม ไม่เรียบเกลี้ยง ผิวมีสีน้ำตาลหม่น ๆ
ใบ : ใบเป็นสีเขียว พื้นผิวใบเกลี้ยงเป็นมัน ใบออกเป็นก้านยาว ก้านหนึ่งมี ใบย่อยอยู่ 3 ใบ ใบมีลักษณะเป็นรูปค่อนข้างกลม ใบกว้างราว 2.5-9 นิ้ว ยาวราว3.4-10.5 นิ้วลักษณะคล้ายกับใบทองหลางใบมน
ดอก : ดอกออกเป็นช่อ รูปลักษณะของดอกคล้ายกับดอกทองหลาง ดอกเป็นสีแดง ขนาดใหญ่
ผล : ผลมีลักษณะเป็นฝักแข็ง เปลือกนอกมีสีเป็นสีน้ำตาลอ่อนภายในฝักมีเมล็ด ขนาดเล็ก เป็นสีน้ำตาลแก่
การขยายพันธุ์ : เป็นพรรณไม้ที่เกิดขึ้นเองตามพื้นที่ลุ่มต่ำ หรือตามป่าราบ
ส่วนที่ใช้ : ใบ ดอก ฝัก เมล็ด ราก
สรรพคุณทางสมุนไพร
ใบ ใช้ใบสดนำมาต้มเอาน้ำกิน เป็นยาแก้ปวด ขับพยาธิ ถอนพิษ แก้ท้องขึ้น แก้ริดสีดวงทวาร นำใบสดมาตำให้ละเอียดใช้พอกสิว และฝีเป็นต้น
ดอก ใช้ดอกสดมาต้มเอาน้ำรับประทานเป็นยา แก้ถอนพิษไข้ ช่วยขับปัสสาวะ หรือนำเอาน้ำมาผสมกับยาหยอดตาแก้โรคตามัว หรือเจ็บตา เป็นต้น ฝัก นำมาต้มเอาน้ำดื่ม เป็นยาขับถ่ายพยาธิ
เมล็ด นำเมล็ดมาตำให้ละเอียดแล้วใช้ผสมกับน้ำมะนาว ใช้บริเวณที่เป็นผื่นคัน หรือเป็นแผลอักเสบเนื่องจากเป็นโรคผิวหนัง หรือนำเมล็ดมาต้มใช้น้ำกินเป็นยาถ่ายพยาธิไส้เดือน เป็นต้น
ราก นำรากสดมาต้ม ใช้น้ำรับประทาน เป็นยาแก้โรคประสาททุกชนิด และใช้เป็นยาบำรุงธาตุอีกด้วย