กรวยป่า
กรวยป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Caseria grewiifolia Vent.
ชื่อวงศ์
Flacourtiaceae
ชื่ออื่น
ก้วย (ภาคเหนือ); ขุนเหยิง (สกลนคร); คอแลน (นครราชสีมา); ตวย (เพชรบูรณ์); ตวยใหญ่, ตานเสี้ยน (พิษณุโลก); ผ่าสาม (นครพนม, อุดรธานี); จะร่วย (สุรินทร์); ผีเสื้อหลวง, สีเสื้อหลวง (ภาคเหนือ)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ประมาณ 20 ม. กิ่งมีขนกำมะหยี่ปกคลุม มีขนสั้นนุ่มตามเส้นกลางใบ แผ่นใบด้านล่าง ก้านใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับในระนาบเดียวกัน รูปขอบขนานหรือแกมรูปไข่ ยาว 8-16 ซม. ปลายใบแหลมหรือแหลมยาว ปลายมน โคนใบเบี้ยว รูปลิ่ม หรือมนด้านเดียว อีกด้านกว้างกลมหรือเกือบตัด แผ่นใบหนา ขอบใบจักซี่ฟันตื้นๆ เส้นแขนงใบข้างละ 8-12 เส้น ก้านใบยาว 0.6-1.2 ซม. ดอกสีเขียวอ่อน ออกเดี่ยวๆ หรือเป็นกระจุกหลายดอกตามซอกใบ ใบประดับมีหลายใบ เกือบกลม ยาวประมาณ 1 มม. ก้านดอกยาว 5-8 มม. กลีบเลี้ยงส่วนมากมี 5 กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมที่โคน กลีบรูปไข่ ด้านนอกมีขน กลีบยาว 2-3 มม. ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้ 8-10 อัน ติดบนขอบจานฐานดอกรูปถ้วย ขอบหยักเป็นพู สูงประมาณ 1 มม. มีขนสั้นนุ่ม ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ 1.5 มม. รังไข่รูปไข่ มีขน มี 1 ช่อง ก้านชูเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเป็นตุ่ม ผลแบบแคปซูล ทรงรี ยาว 2.5-3.5 ซม. เนื้อหนา สุกสีเหลือง แตกเป็น 3 ซีก เมล็ดมีหลายเมล็ด มีเยื่อหุ้มมีส้มอมแดง จักเป็นครุย กรวยป่ามีเขตการกระจายพันธุ์กว้าง พบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู สุมาตรา ชวา บอร์เนียว ในไทยพบกระจายทุกภาค ขึ้นในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ชายป่าดิบชื้น หรือบนเขาหินปูน จนถึงระดับความสูงประมาณ 1000 เมตร
สรรพคุณทางสมุนไพร
ใบ ต้มรับประทาน มีรสเมา แก้พิษกาฬ แก้โรคผิวหนังผืนคันที่มีตัว
ใช้ใบหั่นผสมกับยาสูบมวนสูบๆ แก้ริดสีดวงจมูก
หุง เป็นน้ำมันทาบาดแผลและผิวหนังเป็นยาฆ่าแบคทีเรีย
ดอก ต้มรับประทาน แก้พิษกาฬ พิษไข้
เมล็ด แก้ริดสีดวง และใช้เบื่อปลา
ราก ต้มแก้ท้องร่วง แก้ตับพิการ
เปลือกต้น บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง น้ำมันในเมล็ดทาแก้โรคผิวหนัง