Social Icons

กระแจะ

imageimageimage
ชื่อวิทยาศาสตร์ Hesperethusa crenulata (Roxb.) Roem.
ชื่อพ้อง Naringi crenulata (Roxb.) Nicolson., Limonia crenulata (Roxb.)
ชื่อวงศ์ Rutaceae
ชื่ออื่น พญายา(กลาง ราชบุรี) ขะแจะ (เหนือ) ตุมตัง (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ตะนาว (มอญ)พุดไทร ชะแจะ กระแจะจัน พินิยา ฮางแกง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่มกึ่งไม้ต้น หรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เนื้อไม้สีขาว เปลือกต้นสีน้ำตาล ขรุขระ ลำต้นและกิ่งมีหนาม มีหนามแข็ง และยาว หนามออกเดี่ยวหรือเป็นคู่ ตรง ยาวได้ถึง 2.5 เซนติเมตร ไม่ผลัดใบ สูง 8-15 เมตร ลำต้นเปลาตรง แตกกิ่งต่ำ กิ่งก้านตั้งฉากกับลำต้น กิ่งอ่อนและยอดอ่อนเกลี้ยง ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงสลับ ใบย่อย 4-13 ใบ รูปวงรีแกมไข่กลับ กว้าง 1.5-3 เซนติเมตร ยาว 2-7 เซนติเมตร ก้านใบแผ่เป็นปีก ลักษณะเป็นครีบออกสองข้าง เป็นช่วงๆ ระหว่างคู่ใบย่อย โคนและปลายใบสอบแคบ เนื้อใบบางคล้ายกระดาษถึงหนาคล้ายแผ่นหนัง เนียน เกลี้ยง เมื่อส่องดูจะเห็นต่อมน้ำมันเป็นจุดใสๆกระจายอยู่ทั่วไป ขอบใบหยัก เป็นซี่ฟันเลื่อย ตื้นๆ เส้นแขนงใบข้างละ 3-5 เส้น ก้านช่อใบยาวได้ถึง 3 เซนติเมตร ไม่มีก้านใบย่อย ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ รวมกันเป็นกระจุกตามกิ่งเล็กๆหรือตามซอกใบ มีขนสั้นนุ่ม ดอกสีขาวหรือสีขาวอมเหลือง กลีบดอกมี 4 กลีบ เมื่อบานจะแผ่ออกหรือลู่ไปทางก้านเล็กน้อย กลีบดอกรูปไข่แกมรูปรี กว้างประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาว 7 มิลลิเมตร เกลี้ยง มีต่อมน้ำมันประปราย เกสรตัวผู้มี 8 อัน ยาว 4-6 มิลลิเมตร ยาวเกือบเท่ากันหรือสลับกันระหว่างสั้นกับยาว เกลี้ยง ก้านชูอับเรณูรูปลิ่มแคบ อับเรณูรูปขอบขนานแกมรูปไข่ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ปลายเป็นติ่งแหลมสั้นถึงติ่งแหลมอ่อน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ เกือบกลม ยาว 1-2 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมัน เกลี้ยง มี 4 ช่อง แต่ละช่องมี 1 เม็ด ก้านเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีต่อมน้ำมันใต้ยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียปลายแยกเป็น 5 แฉก จานฐานดอกเกลี้ยง ก้านช่อดอกยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร ก้านดอกยาว 8-10 มิลลิเมตร เกลี้ยง หรือมีขน กลีบเลี้ยง 4 กลีบ รูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้าง และยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร ปลายแหลม ผิวด้านนอกมีขนละเอียด และมีต่อมน้ำมัน ด้านในเกลี้ยง ผลสด รูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 เซนติเมตร เมื่ออ่อนสีเขียว แก่จัดสีม่วงคล้ำ ก้านผลยาวได้ถึง 2 เซนติเมตร เมล็ดรูปเกือบกลม กว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร สีน้ำตาลอมส้มอ่อน มี 1-4 เมล็ด เนื้อไม้ เมื่อตัดมาใหม่ๆ จะมีสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน ถ้าทิ้งไว้นานๆจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลปนเหลืองอ่อน ชาวพม่านิยมนำมาทำเครื่องประทินผิวเรียกว่า “กระแจะตะนาว” หรือ “Thanatka” ชื่อไม้ชนิดนี้เรียกตามชื่อเทือกเขา “ตะนาวศรี” พบตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ออกดอกราวเดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม ผลจะแก่ราวเดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม
สรรพคุณทางสมุนไพร 
ใบ รสขมเฝื่อน ผสมกับสมุนไพรอื่น ต้มกิน แก้ลมบ้าหมู

ราก รสขมเย็น แก้โรคลำไส้ แก้ปวดท้องบริเวณลำไส้ใหญ่ และบริเวณลิ้นปี่ ขับเหงื่อ ฝนกับน้ำสะอาดใช้ทาหน้าแทนแป้งทำให้ผิวสีเหลือง แก้สิวฝ้า เป็นยาถ่าย
ผล มีรสขมเฝื่อน แก้พิษ แก้ไข้ แก้อาหารไม่ย่อย แก้ท้องอืดเฟ้อ เป็นยาบำรุงกำลัง ยาบำรุงร่างกาย ผลสุก แก้ไข้ เป็นยาสมานแผล ยาบำรุง ช่วยเจริญอาหาร แก่น รสจืด เย็น ดองเหล้ากินแก้กษัย (การป่วยที่เกิดจากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม โลหิตจาง) บำรุงเลือด แก้กระษัย แก้โลหิตพิการ ดับพิษร้อน แก้ไข้ แก้ผอมแห้ง
เปลือกต้น มีรสขม ใช้แก้ไข้ ขับผายลม บำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น

ยาพื้นบ้าน ใช้ ต้น ต้มน้ำดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น แก้ปวดตามข้อ ปวดเมื่อย เส้นตึง แก้ร้อนใน แก้โรคประดง (อาการโรคผิวหนังมีผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายผด คันมาก มักมีไข้ ร่วมด้วย)
ชาวพม่า ใช้ เนื้อไม้ นำมาบด ฝน หรือทำให้เป็นผงละเอียด จะมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ใช้ทาผิวหนัง ทำให้ผิวเนียนสวย เป็นส่วนผสมหลักในเครื่องประทินผิวแบบโบราณหลายชนิด ใช้ผสมในเครื่องหอม ที่เรียกว่า   “กระแจะตะนาว” นิยมใช้กันมากในประเทศพม่า

ประโยชน์ของกระแจะ
สรรพคุณของกระแจะ (ข้อมูลจาก http://frynn.com)
1. ผลมีรสขมและเฝื่อน ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง และเป็นยาบำรุงร่างกาย (ผล,ผลสุก)
2. ช่วยบำรุงดวงจิตให้แช่มชื่น (เปลือกต้น)
3. ช่วยทำให้เจริญอาหาร (ผลสุก, เปลือกต้น, แก่น)
4. ช่วยแก้อาการผอมแห้ง (แก่น, ผล, ราก)
5. แก่นมีรสจืดและเย็น นำมาดองกับเหล้าใช้กินเป็นแก้กษัยได้ (อาการป่วยที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ซูบผอม และโลหิตจาง) (แก่น, ผล, ราก)
6. แก่นใช้ดองกับเหล้ากินเป็นยาบำรุงโลหิต แก้โลหิตพิการ โรคเลือด (แก่น)
7. ใบกระแจะมีรสขมและเฝื่อน ใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่นต้มกินแก้ลมบ้าหมูแต่อีกตำราไมได้ระบุว่าต้องใช้ผสมกับสมุนไพรชนิดอื่น (ใบ, ผล, ราก)
8. ช่วยแก้พิษ (ผล)
9. ช่วยแก้ไข้ ถอนพิษไข้ (ผล,ผลสุก,เปลือกต้น,แก่น,ราก)
10. ช่วยแก้อาการร้อนใน ด้วยการใช้ต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 เวลา (ต้น)
11. ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย ด้วยการใช้แก่นนำมาดองกับเหล้ากินเป็นยา (แก่น, เปลือกต้น
12. ช่วยขับเหงื่อ (ราก)
13. ช่วยแก้อาการท้องเสีย (ผล)
14. ช่วยขับผายลม (เปลือกต้น)
15. ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย (ผล)
16. รากมีรสขมเย็น มีสรรพคุณช่วยรักษาโรคในลำไส้ แก้อาการปวดท้องบริเวณลำไส้ใหญ่และบริเวณลิ้นปี่ (ราก)
17. รากใช้เป็นยาถ่าย เป็นยาระบายอ่อนๆ ได้ (ราก)
18. ช่วยในการคุมกำเนิด (ใบ)
19. ผลสุกใช้เป็นยาสมานแผล (ผลสุก)
20. ช่วยแก้โรคประดง (เป็นอาการของโรคผิวหนังที่มีผื่นคัน เป็นเม็ดขึ้นคล้ายกับผด จะมีอาการคันมาก และมักจะมีอาการไข้ร่วมด้วยเสมอ) ด้วยการใช้ต้นนำมาต้มกับน้ำดื่มเป็นยาครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 เวลา (ต้น)
21. ต้นนำมาต้มกับน้ำใช้ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว วันละ 3 ครั้ง เช้า กลางวัน และเย็น จะมีสรรพคุณช่วยแก้อาการปวดเมื่อย ปวดตามข้อ แก้อาการเส้นตึงได้ (ต้น)
ช่วยแก้อาการปวดข้อ ปวดกระดูก (ใบ)

นิทานสอนเด็ก นิทานอีสป นิทานก่อนนอน

สถิติการเข้าชม