งิ้วป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bombax anceps Pierre.
ชื่อวงศ์ Bombacaceae
ชื่ออื่น นุ่นป่า งิ้วป่าดอกขาว งิ้วดอกขาว ไกร งิ้วผา (เหนือ) ง้าวป่า (กลาง) งิ้วขาว
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้ต้น ผลัดใบ สูงถึง 30 เมตร เมื่อต้นยังเล็กเรือนยอดจะเป็นชั้นๆ เมื่อโตเต็มที่ ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดด้านบนจะแบน
เปลือกสีเทา มีหนามตามแข็งตามลำต้นมากมายโดยเฉพาะต้นอ่อน และกิ่งก้าน และจะลดลงเมื่อโตขึ้น กิ่งก้านยังคงมีหนาม
ใบประกอบแบบนิ้วมือ เรียงสลับเวียนเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง ใบย่อย 5-7 ใบ แผ่นใบรูปใบหอกหรือรูปไข่ กว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 7-15 เซนติเมตร ปลายแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบใบเรียบ ก้านใบย่อยยาว 0.5-1.8 เซนติเมตร ก้านใบรวมยาว 10-17เซนติเมตร ก้านใบรวมยาวเท่าๆกับใบย่อย
ดอกเดี่ยว มีขนาด 6.5-8 เซนติเมตร สีขาวครีมแกมม่วง ออกเป็นกลุ่ม 2-4 ดอก กระจายทั่วเรือนยอดที่กำลังผลัดใบ กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง มี 2-4 พู สีเขียวสด เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยบนฐานดอกที่แข็ง กลีบดอกโค้งงอไปด้านหลังปิดส่วนของกลีบเลี้ยง กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว มีขนละเอียดด้านนอก เกสรตัวเพศผู้มีเป็นจำนวนมาก ประมาณ 250-300 อัน มีสีขาวเชื่อมติดกันเป็นกลุ่มๆ แยกเป็น 5 กลุ่ม และเชื่อมเป็นหลอด ด้านล่างห่อหุ้มก้านเกสรตัวเมีย เกสรเพศเมียสีชมพูอมม่วงมีอันเดียว ปลายแยกเป็น 5 แฉก ซึ่งอยู่ชิดติดกัน
ผล รูปทรงกระบอกยาว หรือรูปกระสวย กว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ยาว 12-15 เซนติเมตร ขอบขนาน โค้งงอเล็กน้อย มีสันตื้นๆ 5 สัน แห้งแล้วแตกตามรอยตะเข็บ
เมล็ดรูปทรงกลมสีดำขนาดเล็ก มีปุยสีขาวห่อหุ้มคล้ายเมล็ดฝ้าย พบทั่วไป แต่ชอบขึ้นในป่าเบญจพรรณที่มีหินปูน ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ผลให้เส้นใยใช้ทำหมอนและที่นอน
สรรพคุณทางสมุนไพร
เปลือกต้น ผสมเปลือกต้นนุ่น ต้มน้ำดื่ม แก้อาหารเป็นพิษ รักษาโรคบิด
แก่น ใช้เป็นส่วนผสมเข้ายารักษาแผลน้ำร้อนลวก แก้ปวด
ใบ รสเย็น ตำพอกแก้ฟกช้ำ บดผสมน้ำ ทาแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ
เปลือกต้น รสฝาดเย็น แก้ท้องเสีย แก้บิด
ราก รสจืดเย็น ขับปัสสาวะ เป็นยากระตุ้น และยาบำรุง
รากและเปลือก รสฝาดเย็น ทำให้อาเจียน
ยาง รสเย็นเมา กระตุ้นความต้องการทางเพศ ห้ามเลือดที่ตกภายใน ขับน้ำเหลืองเสีย บำรุงกำลัง แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ระดูมามากกว่าปกติ
ดอกแห้ง รสหวานเย็น รักษาแผลน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ แก้ปวด แก้คัน แก้พิษไข้
ดอกและผล รสหวาน ฝาดเย็น แก้พิษงู