Social Icons

ดาวเรือง

image
ชื่อวิทยาศาสตร์ Tagetes erecta L.
ชื่อวงศ์ COMPOSITAE
ชื่ออื่น ดาวเรืองใหญ่(ไทย) คำปู้จู้ คำปู้จู้หลวง(พายัพ) บ่วงสิ่วเก็ก เฉาหู้ยัง กิมเก็ก(จีน)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นดาวเรือง เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของประเทศเม็กซิโก โดยจัดเป็นไม้ล้มลุก มีอายุได้ราว 1 ปี ลำต้นตั้งตรงมีความสูงประมาณ 60-100 เซนติเมตร แตกกิ่งก้านมากที่โคนต้น ลำต้นเป็นสีเขียวและเป็นร่อง ทั้งต้นเมื่อนำมาขยี้จะมีกลิ่นเหม็น จึงทำให้แมลงไม่ค่อยมารบกวน
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบคี่ ออกเรียงตรงข้ามกัน มีใบย่อยประมาณ 11-17 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปรี ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ส่วนขอบใบจักเป็นซี่ฟัน ใบมีขนาดกว้างประมาณ 0.5-1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร เนื้อใบนิ่ม
ดอก ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวตามปลายยอด ดอกเป็นสีเหลืองสด หรือสีเหลืองปนส้ม กลบดอกมีขนาดใหญ่เรียงซ้อนกันหลายชั้นเป็นวงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ 5-10 เซนติเมตร และยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร ปลายกลีบดอกเป็นฟันเลื่อย มีเกสรเพศผู้ 5 อันโดยดอกจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ดอกวงนอกมีลักษณะคล้ายลิ้นหรือเป็นรูปรางน้ำซ้อนกันแน่น บานแผ่ออกปลายม้วนลง มีจำนวนมาก เป็นดอกที่ไม่สมบูรณ์เพศ โคนกลีบดอกเป็นหลอดเล็ก ส่วนดอกวงในเป็นหลอดเล็กอยู่ตรงกลางช่อดอก มีจำนวนมากและเป็นดอกแบบสมบูรณ์เพศ ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเป็นสีเขียวเชื่อมติดกันหุ้มโคนช่อดอก ก้านชูดอกยาว
ผล เป็นผลแห้งสีดำไม่แตก ดอกจะแห้งติดกับผล[1] โคนกว้างเรียวสอบไปยังปลายซึ่งปลายผลนั้นจะมน
สรรพคุณทางสมุนไพร ช่อดอก รสขม ฉุนเล็กน้อยใช้กล่อมตับขับร้อน ขับลม ละลายเสมหะ แก้เวียนหัว ตาเจ็บ ไอหวัด ไอกรน เต้านมอักเสบ คางทูม และเรียกเนื้อ ทำให้แผลหายเร็วขึ้น
ใบ รสชุ่ม เย็น มีกลิ่นฉุน ใช้แก้ฝีฝักบัว ฝีพุพอง เด็กเป็นตานขโมย ตุ่มมีหนองบวมอักเสบโดยไม่รู้สาเหตุ

วิธีและปริมาณที่ใช้
ช่อดอกแห้ง 3-10 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอกต้มเอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น
ใบแห้ง 5-10 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอกตำพอก หรือต้ม เอาน้ำชะล้างบริเวณที่เป็น

ตำรับยา
1.  แก้ไอกรน ใช้ช่อดอกสด 15 ช่อ ต้มเอาน้ำมาผสมน้ำตาลแดงกิน
2.  แก้หลอดลมอักเสบ ใช้ช่อดอกสด 30 กรัม กับจุยเฉี่ยวเอื้อง (Inula Helianthus-aquatilis C.Y. Wuex Ling) สด 10 กรัม และจี๋อ้วง (Astertataricus L.F.) สด 7 กรัม ต้มน้ำกิน
3. แก้เต้านมอักเสบ ใช้ช่อดอกแห้งเต่งเล้า (paris petiolata Bak. ex. Forb.) แห้งและดอกสายน้ำฝึ้ง (Lonicera japonica Thunb) แห้งอย่างละเท่า ๆ กัน บดเป็นผงผสมน้ำส้มสายชูทาบริเวณที่เป็น
4.  แก้ปวดฟัน ตาเจ็บ ใช้ช่อดอกแห้ง 10 กรัม ต้มน้ำกิน
ผลทางเภสัชวิทยา
1.  ในใบมี Kaempferitrin มีฤทธิ์แก้อักเสบให้หนูตะเภากินขนาด 50 มก./กก. ของน้ำหนักตัวจะทำให้หลอดเลือดฝอยตีบตันทำให้เลือดหยุด เนื้อหนังเจริญดีขึ้น มีฤทธิ์แรงกว่ารูติน (Rutin) และมีปริมาณวิตามินพี (Vitamin P) ค่อนข้างสูง นอกจากนี้สารนี้ยังสามารถลดการเคลื่อนไหวของลำไส้เล็ก ที่แยกจากตัวของกระต่าย ทำให้จังหวะการบีบตัวลดลง
2.  ดอกมีกลิ่นหอมใช้แต่งกลิ่นได้ เคยใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค และสงบประสาท เช่นเดียวกับต้น Tagetes minuta L. (T. glandif lora) ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย มีฤทธิ์สงบประสาท ลดความดันโลหิต ขยายหลอดเลือด หลอดลม และแก้อักเสบ

สารเคมีที่พบ
ช่อดอกมี Flavonoid glycosides, tagetiin 0.1% และสารเรืองแสง Terthienyl 15-21 มก. / กก. ของดอกสด Helenien 74%, B-Carotene Flavoxanthin; Helenien มีคนกล่าวว่ามีผลทำให้เนื้อเยื่อตาดีขึ้น
ใบ มี Kaempferitrin
เมล็ด มีน้ำมัน

หมายเหตุ
เภสัชตำรับของเม็กซิโก เคยใช้ช่อดอกและใบต้มน้ำกิน ขับลม และขับปัสสาวะ
ในอินเดียน้ำคั้นจากช่อดอก ใช้ฟอกเลือดและแก้ริดสีดวงทวาร
ในบราซิลใช้ช่อดอกชงน้ำแก้อาการปวดตามข้อ หลอดลมอักเสบ
ใบและช่อดอกชงน้ำกิน ใช้ขับพยาธิ ช่อดอกใช้ภายนอกในโรคตา และแผลเรื้อรังต่าง ๆ ไปใช้พอกฝี ฝีฝักบัว น้ำคั้นจากใบใช้แก้ปวดหู รากใช้เป็นยาระบาย
ในไทยใช้น้ำคั้นจากใบ ผสมน้ำมันมะพร้าวเคี่ยวจนส่วนน้ำระเหยหมดใช้ทาแผลเปื่อยเน่า ฝีต่าง ๆ

นิทานสอนเด็ก นิทานอีสป นิทานก่อนนอน

สถิติการเข้าชม