จันทน์กะพ้อ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Vatica diospyroides Symington
ชื่อวงศ์ DIPTEROCARPACEAE
ชื่ออื่น เขี้ยวงูเขา จันทน์พอ จันทน์พ้อ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลางไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 5-15 เมตร เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลมโปร่งไม่ค่อยสวย มีใบน้อย แตกกิ่งก้านจำนวนมากที่ยอด กิ่งเปรา เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลอมเทา หรือสีเทาคล้ำ และมักมียางใสซึมออกมาตามรอยแตก ส่วนเปลือกชั้นเป็นสีเหลือง ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด เจริญเติบโตได้ดีในดินที่มีการระบายน้ำดี มีร่มเงาจากไม้อื่น มีความชื้นในอากาศดี และลมไม่แรงมากนัก
ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของแผ่นใบเป็นรูปขอบขนาน ปลายใบเป็นติ่งแหลม โคนใบสอบและเบี้ยวเล็กน้อย ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีความกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร และยาวประมาณ 14-20 เซนติเมตร ใบอ่อนเป็นสีน้ำตาลแดง ส่วนใบแก่เป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน แผ่นใบเกลี้ยงหนา มีเส้นแขนงของใบประมาณ 15-18 คู่ ปลายเส้นโค้งจรดกับขอบใบ โคนใบเบี้ยว และจุหลุดร่วงไปตามอายุ ส่วนก้านใบยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร
ดอกสีเหลืองนวลขนาดเล็กและมีกลิ่นหอมแรงมาก กลิ่นเป็นแบบหอมร้อนๆ คล้ายกับแก้วกาหลงและน้ำมันจันทน์ ออกดอกเป็นช่อสั้นๆ ตามกิ่งและตามง่ามใบ ดอกมีกลีบดอกสีขาวหรือเหลืองอ่อน 5 กลีบ เรียงเวียนกันเป็นรูปกังหัน กลีบดอกมีขนนุ่มเป็นสีน้ำตาล ส่วนกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉก 5 แฉก มีขนปกคลุม เมื่อเริ่มปลูกจะใช้เวลาประมาณ 6-7 ปี ถึงจะออกดอก โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคมและดอกจะทยอยบานในเวลาใกล้เคียงกัน
ผลมีลักษณะกลมรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร ผิวผลเป็นขุยสีน้ำตาลๆ ผลเมื่อแก่จะแตกออกเป็น 3 กลีบ มีกลีบประดับ 5 กลีบสั้นกว่าตัวผล โดยกลีบผลมีลักษณะเป็นรูปสามเปลี่ยมสั้นกว่าความยาวของผล ขอบกลีบพับจีบตามยาว มีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่ปลายแหลม โดยจะติดผลในช่วงเดือนมีนาคมคมเดือนเมษายน[4] และผลจะแก่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม
สรรพคุณทางสมุนไพร
ดอก ใช้ผสมกับยาอื่นปรุงเป็นยาหอมแก้ลม บำรุงหัวใจ
เนื้อไม้ ช่วยแก้สันนิบาต แก้ลมวิงเวียน ช่วยขับลม ช่วยแก้เสมหะ