รางแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Ventilago denticulata Willd.
ชื่อวงศ์ RHAMNACEAE
ชื่ออื่น ก้องแกบ เขาแกลบ เห่าดำ ฮองหนัง ฮ่องหนัง ปลอกแกลบ เถามวกเหล็ก เถาวัลย์เหล็ก กะเลียงแดง แสงอาทิตย์ แสงพระอาทิตย์
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น จัดเป็นไม้เถายืนต้นกึ่งพุ่ม มักเลื้อยตามต้นไม้และกิ่งไม้ เถาเป็นสีเทา ผิวของลำต้นหรือเถาเป็นรอยแตกระแหงเป็นร่องสีแดงสลับ ทำให้เกิดเป็นลวดลายที่สวยงาม (ลำต้นเมื่อยังอ่อนจะเป็นรูปทรงกระบอก เมื่อแก่แล้วจะแตกเป็นสีแดง) ตามกิ่งอ่อนมีขนสั้นๆ
ใบแผ่นใบเป็นสีเขียว ใบคล้ายกับใบเล็บมือนางหรือกะดังงาไทย ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ยาว รูปไข่แกมขอบขนาน หรือรูปวงรีแกมขอบขนาน ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นจักตื้น ใบมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 8-14 เซนติเมตร ส่วนก้านใบสั้น
ดอก ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบใกล้กับปลายยอด ดอกย่อยมีจำนวนมาก กลีบดอกเป็นสีเขียวแกมเหลืองหรือสีเขียวอมขาว
ผล ผลเป็นผลแห้งไม่แตก ผลมีรูปร่างกลม ด้านปลายผลแผ่เป็นครีบคล้ายปีกแข็ง ภายในมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด
สรรพคุณทางสมุนไพร
เถา นำไปหั่นตากแดดให้แห้ง ใช้ปรุงเป็นยาแก้กระษัย คลายเส้นเอ็น แก้ปวดเมื่อย ช่วยเจริญอาหาร เป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงร่างกาย
ใบ ปิ้งไฟให้กรอบ หรือตากแดดให้แห้ง นำไปชงหรือต้มกับน้ำกินแทนน้ำชา ช่วยลดไขมัน ลดความอ้วน ขับปัสสาวะ แก้เส้นเอ็นตึง
ปัจจุบันนี้มีการนำเอารางแดง มาทำเป็นชาเรียกว่า ชารางแดง ช่วยละลายไขมันในเส้นเลือดและไขมันใต้ผิวหนัง ลดคลอเรสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด ลดความดัน ขับปัสสวะ แก้กษัยเส้น