ไคร้น้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Homonoia riparia Lour.
ชื่อวงศ์ EUPHORBIACEAE
ชื่ออื่น ไคร้หิน แร่ ไคร้
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น จัดเป็นไม้พุ่ม มีความสูงได้ประมาณ 7 เมตร มักขึ้นตามโขดหินริมลำธารหรือน้ำท่วมถึง
ใบ เป็นรูปใบหอกหรือเป็นรูปลิ่ม มีความยาวประมาณ 0.5-0.8 เซนติเมตร ร่วงได้ง่าย ส่วนลักษณะของใบเป็นรูปใบหอกหรือรูปแถบ มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ปลายใบยาวแหลม โคนใบแหลม ส่วนขอบใบเรียบหรือเป็นจักแบบฟันเลื่อย มีต่อมตามจัก แผ่นใบด้านล่างมีนวล ใบมีเส้นแขนงใบอยู่ข้างละ 13-16 เส้น ส่วนก้านใบยาวประมาณ 0.4-1.5 เซนติเมตร ยอดอ่อนสามารถรับประทานได้ จิ้มกับน้ำพริกปลาร้าเข้ากันดี รสชาติฝาด
ดอก ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ดอกตัวผู้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 เซนติเมตร ส่วนกลีบเลี้ยงเป็นรูปรีหรือเป็นรูปไข่ ยาวประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร ก้านเกสรสูงประมาณ 0.3-0.6 เซนติเมตร ส่วนดอกตัวเมียมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.2 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยงเป็นรูปไข่หรือเป็นรูปขอบขนาน ยาวประมาณ 0.1-0.2 เซนติเมตร รังไข่กลม มีขนละเอียด และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.1-0.2 เซนติเมตร ส่วนก้านเกสรตัวเมียสั้นมาก ยอดเกาแยกเป็น 3 แฉก แต่ละแฉกยาวได้ประมาณ 0.3 เซนติเมตร
ผล มีลักษณะกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.3-0.4 เซนติเมตร มีขนสั้นและนุ่ม ในผลมีเมล็ด เมล็ดเป็นรูปไข่ มีขนาดประมาณ 0.2 เซนติเมตร และมีเยื่อหุ้มสีแดง
สรรพคุณทางสมุนไพร
ลำต้น ต้มน้ำดื่มใช้กินเป็นยาขับเหงื่อ
ราก ต้มน้ำดื่มใช้เป็นยาระบาย ขับปัสสาวะ ช่วยขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ หากดื่มมากจะทำให้อาเจียน
ใบและผล ใช้ตำพอกรักษาโรคผิวหนัง ผดผื่นคันบางประเภท