แสยก
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pedilanthus tithymaloides (L.) Poit.
ชื่อสามัญ : Redbird Cactus, Slipper-Flower, Jew-Bush
ชื่ออื่น : แสยกสามสี (ภาคกลาง) ว่านสลี (แม่ฮ่องสอน) ย่าง มหาประสาน นางกวัก เคียะไก่ไห้ (ภาคเหนือ) กะแหยก
วงศ์ : EUPHORBIACEAE
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่ม ขนาดเล็ก ผลัดใบ แตกกิ่งก้านเป็นกอแน่น สูง 1-3 ม. ลำต้นอวบน้ำ หักงอไปมา รูปซิกแซก สีเขียว ผิวเรียบ มียางสีขาวข้น
ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับในแนวระนาบ รูปไข่กว้าง 2.5-5 เซนติเมตร ยาว 3.5-7 เซนติเมตร โคนใบกลม มน หรือแหลม ปลายใบมนหรือแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเส้นใบเห็นไม่ชัด เนื้อใบหนาด้านล่างมีขนอ่อน ก้านใบยาว 2-7 มิลลิเมตร หูใบเป็นตุ่มกลม 2 ตุ่มอยู่ข้างโคน ก้านใบ ร่วงง่าย ต้นจะสลัดใบทิ้งหมดหรือเกือบหมดก่อนออกดอก
ดอก สีแดงออกเป็นช่อตามลำต้น ที่ยอดและปลายกิ่งแขนงสั้นๆ ใกล้ปลายยอด ดอกแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน ก้านช่อยาว 3-20 มิลลิเมตร ช่อดอกยาว 1-2.5 เซนติเมตร ใบประดับด้านนอกมีขนสั้นปกคลุมหนาแน่น ก้านดอกไม่มีขน ดอกลักษณะคล้ายรองเท้า หรือ เรือมี 5 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น ชั้นในมี 3 กลีบ สั้นและแคบกว่าชั้นนอก มีขนละเอียด ที่ฐานด้านนอกมีต่อมน้ำหวานรูปกระทะคว่ำ 1 ต่อม ด้านในมีต่อม 2-4 ต่อม เรียงเป็นคู่ ที่ปลายมีแถบยาวหนึ่งแถบ อยู่ตรงช่องระหว่างกลีบใหญ่ชั้นนอกสองกลีบ ผล เป็นชนิดแห้งแล้วแตก
สรรพคุณทางยาสมุนไพร ใช้น้ำยางจากต้นกัดหูด โดยการนำน้ำยางสีขาวไปทาโดยตรงบนหัวหูด ทาบ่อยๆ หูดจะค่อยๆ หายไปได้เอง
ในสมัยก่อน ชาวบ้านตามชนบทนิยมเอาต้นแสยกแบบสดทั้งต้นกะจำนวนตามต้องการ ทุบพอแตกไปแช่น้ำตามหนองบึง หรือบ่อที่มีปลาอาศัยอยู่ ประมาณครึ่งชั่วโมง ถ้าบ่อหรือหนองไม่กว้างนัก ปลาที่อยู่ในน้ำจะเกิดอาการเมาหรือตาย สามารถจับหรือช้อนขึ้นมาได้อย่างสบาย มีฤทธิ์เหมือนกับต้นหาง-ไหล หรือต้นโล่ติ้นของชาวจีน ยางของแสยกมีพิษแรงมาก ขนาดนำเอาทั้งต้นทุบพอแตก ใส่ลงในวังน้ำหรือลำธารที่มีจระเข้ อาศัยอยู่ มันจะหนีไปที่อื่นจนหมด เหลือ เชื่อมาก แพทย์ตามชนบทนิยมเอาใบและยอดของแสยกโขลกละเอียดพอกแผลสด เป็นยาประสานเนื้อดียิ่งนัก มีชื่อเรียก ในประเทศไทยอีกคือ มหาประสาน
แสยกตีนตะขาบ : สรรพคุณเหมือนกับแสยกชนิดอื่นๆ