คอแลน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Nephelium hypoleucum Kurz.
ชื่อวงศ์ Sapindaceae
ชื่ออื่น หมักแวว หมากแงว มะแงว แงว ลิ้นจี่ป่า คอแลนตัวผู้ คอรั้ง สังเครียดขอน หมักงาน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ยืนต้นขนาดกลาง ผลัดใบ สูง 10-20 เมตร ลำต้นเปลา โคนต้นอาจมีพูพอนบ้าง เปลือกสีน้ำตาลคล้ำ เรียบ เรือนยอดเป็นพุ่มค่อนข้างทึบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ ใบย่อยรูปขอบขนาน แกมรูปไข่กลับ ติดตรงข้าม 1-3 คู่ กว้าง 3-8 เซนติเมตร ยาว 10-20 เซนติเมตร โคนใบมนและเบี้ยว ปลายใบสอบแหลม ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนา หลังใบเกลี้ยงเป็นมัน ท้องใบสีจาง ดอกช่อแยกแขนง ขนาดใหญ่ ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ออกที่ปลายกิ่ง ดอกย่อยจำนวนมากมีขนาดเล็ก สีขาวอมเขียวออกรวมกันเป็นช่อใหญ่ ตามปลายกิ่ง ทุกส่วนของช่อมีขนสีเทาทั่วไป โคนกลีบรองดอกติดกันเป็นรูปถ้วยปากกว้าง ปลายแยกเป็น5 แฉก มีขนนุ่มทั้งสองด้าน ไม่มีกลีบดอก เกสรเพศผู้มี 5 อัน รังไข่กลม มีขนปกคลุม ผลสด รูปวงรี หรือค่อนข้างกลม ออกลูกดกเป็นพวงคล้ายลิ้นจี่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางผล 1.5-2 เซนติเมตร ยาว 2.5-3 เซนติเมตร ผิวขรุขระเป็นปมเล็ก ๆ กระจายทั่วไป ผลอ่อนสีเขียว พอแก่จัดออกสีแดงเข้ม แต่ละผลมีเมล็ดเดียว สีดำ มีเนื้อเยื่อใสๆและฉ่ำน้ำหุ้มเมล็ด พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ตามที่ใกล้แหล่งน้ำที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-800 เมตร ออกดอกราวเดือนธันวาคมถึงมกราคม ผลสุกประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม
สรรพคุณทางสมุนไพร
ตำรายาพื้นบ้าน แก่น ฝนกับน้ำ ผสมสมุนไพรอื่นๆ รวม 35 ชนิด กินแก้ไข้หมักไม้ ไข้เปลี่ยนฤดู ไข้หวัดใหญ่ ผลแก่ รับประทานได้ เป็นยาระบาย มีรสเปรี้ยวจัด นิยมกินกับน้ำปลา เกลือ หรือน้ำปลาหวาน
เนื้อไม้ รสฝาด ปรุงเป็นยาห้ามเลือด ผล เป็นยากระจายเลือด เปลือก เป็นยาบำรุงเลือด