มะยมป่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acronychia pedunculata (L.) Miq.
ชื่อวงศ์ Rutaceae
ชื่ออื่น กระเบื้องถ้วย, ย้อมผ้าระนาบ (กลาง), กริง, เปล้าขลิบทอง (ปราจีนบุรี), ค้อนหมา, ชวน, อ่วม (สุราษฎร์ธานี),คะนาง, ชะนาง (จันทบุรี), ทองฟ้า, ไพรสามกอ (ประจวบคีรีขันธ์),น้ำผึ้งใหญ่, ยมป่า(นครราชสีมา), มะงัน (ชลบุรี, ปราจีนบุรี), ยาโกร้ง (ยะลา), กะอวม
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้น ไม่ผลัดใบ สูง 4-8 เมตร เปลือกต้นบาง สีน้ำตาลเรียบหรือมีรอยแตกตื้นๆ เปลือกชั้นในสีครีมอมชมพู ยอดและกิ่งอ่อนมีขนละเอียดประปราย ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม กว้าง 4.5-7 เซนติเมตร ยาว 13-20 เซนติเมตร โคนใบแหลมหรือตัด ปลายใบแหลมมนหรือหยักเว้าสั้นๆ เนื้อใบบางหรือค่อนข้างหนา ใบแก่บางเหนียว ผิวเรียบเกลี้ยงสีเขียวเข้ม ด้านบนเป็นมัน แผ่นใบมีจุดน้ำมันกระจายทั่วไป เส้นใบข้าง 9-12 คู่ ก้านใบ 1.2-4.5 เซนติเมตร พองออกทั้งสองด้าน ไม่มีหูใบ ตาใบแคบแหลม ดอกช่อแยกแขนง ขนาด 1-1.3 เซนติเมตร ออกที่ซอกใบ ช่อยาว 5-12 เซนติเมตร ดอกย่อยจำนวนมาก มีขนาดเล็ก กลีบดอกสีขาว สีขาวแกมเหลือง สีขาวแกมเขียว หรือสีเขียวหม่น แต่ละช่อย่อยมี 3 ดอก ดอกกลางบานก่อน ก้านดอก 0.5 -2 เซนติเมตร ดอกสมบูรณ์เพศหรือแยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน กลีบดอก 4-5 กลีบ บานออกไม่ซ้อนกัน กลีบแคบและแหลม เกสรตัวผู้ 8 อัน มีก้านชูบางและแบน มีขนที่ฐาน อันที่อยู่ตรงข้ามกลีบเกลี้ยงจะยาวกว่าอันที่อยู่ตรงข้ามกลีบดอก อับเรณูเป็นตุ่มสั้นกว่าก้าน เกสรตัวเมียหมอนรองดอกมีขนหนาแน่นปกคลุม หมอนรองดอกมี 8 ร่อง กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม 4 กลีบ ผลสด รูปทรงกลม รูปไข่กลับหรือรูปกระสวย ขนาด 0.9-2 เซนติเมตร มีจุดต่อมมักจะมีร่อง 4 ร่องด้านบน สีเขียวสด เมื่อสุกเป็นสีเหลืองเขียว ผลไม่แตกมีเนื้อบาง ชั้นหุ้มเมล็ดแข็ง เส้นผ่าศูนย์กลางเมล็ด 3-7 มิลลิเมตร พบตามป่าผสม ป่าละเมาะ ตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึง 2,200 เมตร ออกดอกราวเดือนมิถุนายนถึงกันยายน ติดผลราวเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน
สรรพคุณทางสมุนไพร
ใช้ เปลือกต้น ผสมเนื้อมะพร้าวแก่ เหง้าขมิ้นชัน ตำทาแก้คัน รักษากลากเกลื้อน
ใบและผล ใช้ประคบลดอาการปวดเมื่อย
ใช้ ทั้งต้น รักษาอาการปวด รักษาโรคปวดข้อรูมาติก แก้ท้องเสีย แก้ไอ แก้หอบหืดแก้อาการคัน แก้แผล รักษาแผลและผิวหนังตกสะเก็ด แก้ไข้ ห้ามเลือด กระตุ้นกำหนัด
องค์ประกอบทางเคมี ใบพบสารอัลคาลอยด์กลุ่มควิโนลีน ได้แก่ kokusaginine, evolitrine สารกลุ่ม aryl ketone ได้แก่ 1-[2',4'-dihydroxy-3'-(3''-methylbut-2''-enyl)-5'-(1'''-ethoxy-3'''-methylbutyl)-6'-methoxy] phenylethanoneเปลือกรากพบ สารกลุ่ม coumarin ได้แก่ bergaptene, สารกลุ่ม triterpene ได้แก่ beta-amyrin, สารกลุ่ม acetophenonesได้แก่ 1-[20,40-dihydroxy-30,50-di-(300-methylbut-200-enyl)-60-methoxy] phenylethanone, acronylin, acrovestone ลำต้นและเปลือกรากพบ acronyculatins A–F เปลือกต้นพบสารกลุ่ม aryl ketone ได้แก่ 1-[2',4'-Dihydroxy-3',5'-di-(3''-methylbut-2''-enyl)-6'-methoxy] phenylethanone, acrovestenol, acropyrone, acropyranol A and B, acrofoliones A and B ผลพบสารกลุ่ม acetophenonesได้แก่ dimer demethylacrovestone และสารกลุ่มอื่นๆ ได้แก่ แคโรทีนอยด์ วิตามินซี ฟีนอลิก น้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดินเมื่อกลั่นด้วยไอน้ำพบองค์ประกอบ 34 ชนิด โดยมีองค์ประกอบหลักคือ alpha-pinene (57.4%), β-caryophyellene (13.6%)
ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา สาร acrovestone และ acerovestenol ยับยั้งเซลล์มะเร็งชนิด A2058 melanoma cells ในหลอดทดลอง (เซลล์มะเร็งที่เกิดจากเม็ดสีผิวเข้มผิดปกติ)โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 0.38 และ 2.8 µM ตามลำดับ ยับยั้งเซลล์มะเร็งต่อมลูกหมากในหลอดทดลอง มีค่า IC50 เท่ากับ 0.93 และ 2.7 µM ตามลำดับ
สาร acrovestone ออกฤทธิ์ต่ำในการจับกับอนุมูลอิสระ DPPH (493 µM) และออกฤทธิ์ได้ปานกลางในการยับยั้งเอนไซม์ tyrosinase ที่ทำให้สีผิวหนังเข้ม (333 µM)
น้ำมันหอมระเหยจากส่วนเหนือดิน มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Salmonella enterica และ Staphylococcus epidermidisในหลอดทดลอง
สารกลุ่ม aryl ketone จากเปลือกต้น ชื่อ 1-[2',4'-Dihydroxy-3',5'-di-(3''-methylbut-2''-enyl)-6'-methoxy] phenylethanone ออกฤทธิ์ดีในการยับยั้งเอนไซม์ที่ทำให้เกิดการอักเสบ cycloxygenase-2 (COX-2) ในหลอดทดลอง