พังแหร
ชื่อวิทยาศาสตร์ Trema orientalis (L.) Blume.
ชื่อพ้อง Celtis orientalis Linn., Celtis guineensis Schum. and Thonn., Trema bracteolate Hochst Blume, Sponia orientalis Linn. Decne, Trema guineensis (Schum. and Thonn.) Ficalho
ชื่อวงศ์ Ulmaceae
ชื่ออื่น ขางปอยป่า ตะคาย ปะดัง ตายไม่ทันเฒ่า พังแหรใหญ่ ปอแฟน ปอหู ปอแหก ปอแฮก พังแกรใหญ่ พังอีแร้ พังอีแหร
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ สูง 4-12 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีเทา เรือนยอดโปร่งเป็นพุ่มแผ่กว้าง กิ่งก้านออกในแนวขนานกับพื้นดิน ปลายกิ่งลู่ลง กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม เปลือกต้นสีเขียวอมเทาอ่อนหรือน้ำตาล ผิวบางเรียบเกลี้ยงหรือมีรอยแตกตามยาวบางๆ มีรูอากาศมาก เปลือกชั้นในสีเขียวสด ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง 3-5 เซนติเมตร ยาว 7-12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบไม่สมมาตร ขอบใบจักแบบฟันเลื่อยละเอียด ยอดอ่อนมีขนสีเงินหนาแน่น ผิวใบสากคาย ใบแก่ด้านบนมีขนหยาบประปราย ด้านล่างสีเขียวอมเทาเป็นหย่อมแน่นๆ ปะปนกับขนสีเงินที่ยาวกว่า เส้นใบออกจากฐานใบ 3-5 เส้น ทอด ½-3/4 ตามความยาวของใบ เส้นใบข้างโค้งมาก 4-8 คู่ ก้านใบยาว 0.4-1.7 ซม. มีร่องและมีขนหนาแน่น มักจะมีประสีชมพูหรือม่วง หูใบรูปหอก ขนาด 2.6 มม. ไม่เชื่อมกัน ดอกสีขาวอมเขียว ขนาดเล็กออกเป็นช่อสั้นๆ เป็นกระจุกที่ซอกใบ ดอกย่อยมีขนาดเล็ก ขนาดดอก 0.3 ซม. ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน แต่แยกช่อ ดอกเพศผู้มีจำนวนมากกว่า 20 ดอก ช่อดอกเพศเมียมีดอกประมาณ 15-20 ดอก ดอกย่อยมีกลีบรวม 5 กลีบ มีขน ดอกตัวผู้ช่อแน่นและแตกแขนงยาวถึง 2.5 ซม. ดอกมักเป็นคู่ มีก้านของช่อข้างล่างโค้งลง ชั้นกลีบเลี้ยงแยก 4-5 พู ขนาด 1.5 มม. ไม่ซ้อนกัน เกสรตัวผู้ 4-5 อัน อยู่ตรงข้ามกับพูกลีบเลี้ยง ดอกตัวเมียคล้ายกันแต่ช่อโปร่งกว่า มีเกสรตัวเมียแยก 2 กิ่ง รังไข่ไม่มีก้านชู ผลสดลักษณะกลม แข็ง ขนาด 3-4 มิลลิเมตร ก้านผลยาว 0.3 ซม. ผลสีเขียวเข้มเมื่อสุกมีสีดำ มีชั้นกลีบเลี้ยงติดที่ฐานและปลายเกสรตัวเมียติดที่ยอดผล เนื้อภายในบาง ชั้นหุ้มเมล็ดแข็ง มีเมล็ดเดียว พบตามที่โล่งและตามชายป่าดงดิบ ที่ระดับความสูง 600-1,500 เมตร เป็นไม้เนื้ออ่อนโตเร็ว ออกดอกและติดผลราวเดือนมีนาคมถึงสิงหาคม
สรรพคุณทางสมุนไพร
ใช้เปลือกต้น เคี้ยวอมไว้นาน 30 นาที แก้ปากเปื่อย เปลือกต้นใช้ทำเชือก แก่นหรือราก ฝนน้ำกินเป็นยาเย็น แก้ร้อนในกระหายน้ำ
ราก เป็นยาห้ามเลือด แก้ปัสสาวะเป็นเลือด แก้เลือดออกที่กระเพาะอาหารและลำไส้ เปลือกต้น เป็นยาถ่ายพยาธิ แก้บิด ลำต้นและกิ่ง เป็นยาชง แก้ไข้ กลั้วปากแก้ปวดฟัน เปลือกต้นและใบ แก้ไข้มาลาเรีย บรรเทาปวดกล้ามเนื้อและกระดูก น้ำต้มใบใช้ขับพยาธิตัวกลม ผลและดอก ทำยาชงสำหรับเด็กรักษาหลอดลมอักเสบ ปวดบวม เยื่อหุ้มปอดอักเสบ
องค์ประกอบทางเคมี
ลำต้นและเปลือกรากพบ methylswertianin, decussatin, decussating glycosides, sweroside, scopoletin, (-)-epicatechin, lupeol, p -hydroxybenzoic acid เปลือกต้นพบ simiarenone, simiarenol, episimiarenol, (-)-ampelopsin F, (-)-epicatechin, (+)-catechin, (+)-syringaresinol, N-(trans-p-coumaroyl) tyramine, N-(trans-p-coumaroyl) octopamin, trans-4-hydroxycinnamic acid, สารไตรเทอร์ปีน trematol
การศึกษาทางพิษวิทยา
มีรายงานว่าแพะที่กินยอดและใบพังแหรสด ตายจากอาการเกิดพิษต่อตับ พิษออกฤทธิ์ Trematoxin glycocides (อาจเป็นพวก cyanogenetic) อาการป่วย ไม่กินอาหาร ตัวสั่น กระตุก ลำไส้อักเสบ ตื่นเต้น ไม่รู้สึกตัว ตาย