Social Icons

ปอพราน

imageimage
ชื่อวิทยาศาสตร์ Colona auriculata (Desf.) Craib
ชื่อพ้อง Diplophractum auriculatum Desf. , Columbia auriculata (Desf.) Baill.
ชื่อวงศ์ Tiliaceae
ชื่ออื่น ขี้หมาแห้ง (สุโขทัย) ปอขี้ตุ่น (อุตรดิตถ์) ปอที (อุบลราชธานี) ปอปาน (นครราชสีมา) ปอพาน (เชียงใหม่)
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ไม้พุ่ม สูง 1-2 เมตร เปลือกสีน้ำตาลปนเทา ผิวเรียบ ทุกส่วนมีขนยาวปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปขอบขนาน หรือรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง 2.5-5 ซม. ยาว 7-20 ซม. ใบออกใกล้กันจนขอบใบซ้อนกัน ปลายแหลมถึงเรียวแหลมเป็นติ่ง โคนเบี้ยว และเป็นรูปติ่งหู ขอบหยักฟันเลื่อยซ้อน แผ่นใบบาง คล้ายกระดาษ ถึงกึ่งหนา คล้ายแผ่นหนัง ด้านบนมีขนสาก ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม หนาแน่น เส้นใบที่โคน 3 เส้น เส้นแขนงใบข้างละ 3-7 เส้น เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันได และเส้นใบย่อยแบบร่างแหชัดเจน ทางด้านบน ก้านใบยาวประมาณ 3 มม. มีขน หูใบรูปรีถึงสามเหลี่ยม แคบยาว โคนหูใบแผ่เป็นแผ่นรูปทรงกลม แต่ละด้านมีขนาดไม่เท่ากัน ติดทน ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกที่ซอกใบ ห้อยลงใต้กิ่ง ช่อยาว 2-3 ซม. จำนวนดอกแต่ละกระจุก 1-3 ดอก ดอกตูมรูปไข่กลับ เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1 ซม. กลีบเลี้ยง 5 กลีบ แยกจากกันเป็นอิสระ รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก ปลายแหลม ผิวด้านนอกสีเหลืองมีขนหนาแน่น ด้านในมีขนบางกว่า สีเหลืองมีจุดเล็กสีแดงประปราย กลีบดอก 5 กลีบ แยกจากกันเป็นอิสระ กลีบดอกสีเหลืองสด มีจุดประสีส้มแกมน้ำตาล กลีบรูปช้อน กว้าง 2-3 มม. ยาว 8-9 มม. ปลายมน มีขนปกคลุมยาว เป็นมัน เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณู สีขาวอมเหลือง เกลี้ยง อับเรณูสีเหลืองอ่อน รังไข่รูปไข่อยู่เหนือวงกลีบ กว้างประมาณ 2 มม. ยาว ประมาณ 3 มม. มีขนหนาแน่น มี 5 ช่อง แต่ละช่อง มีออวุล 2-4 เมล็ด ใบประดับย่อย 3 ใบรูปส้อม สีเหลืองอ่อนและมีสีแดงตามแนวเส้นท่อลำเลียง ผลรูปกลม หรือรูปไข่ มีขนหนาแน่น กว้าง 1.5-2 ซม. ยาว 1.8-2.5 ซม. มีครีบเป็นสันตามยาว 5 ครีบ สันกว้างกว่า ½ ของส่วนกลางผล ก้านผลยาว ผลแก่ไม่แตก พบตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ป่าละเมาะ ที่รกร้าง ออกดอกช่วงเดือน พฤษภาคมถึงกันยายน เป็นผลช่วงเดือนพฤษภาคมถึงธันวาคม

สรรพคุณทางสมุนไพร
ทั้งต้น ต้ม เป็นยารักษาบิด แก้ท้องเสีย

นิทานสอนเด็ก นิทานอีสป นิทานก่อนนอน

สถิติการเข้าชม