สะตอ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Parkia speciosa
ชื่อวงศ์ Fabaceae
ชื่ออื่น เวาะปะตา(มลายู) หมากตอ บักสะตอ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
สะตอเป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงเฉลี่ยได้ถึง ๓๐ เมตร ต้นสูงขึ้นไปแล้วแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแผ่กว้าง ลำต้นเรียบ ลอกเป็นสะเก็ดเล็กน้อย สีน้ำตาลอ่อน กิ่งก้านมีขนละเอียด ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ใบแขนงมีประมาณ ๑๔-๑๘ คู่ ช่อใบย่อยมีประมาณ ๓๑-๓๘ คู่ ปลายใบบนฐานใบด้านนอกเบี้ยวเป็นติ่ง ดอกออกเป็นช่อรวมกันเป็นกระจุก อัดกันแน่นเป็นก้อนคล้ายดอกกระถิน ช่อดอกจะห้อยระย้าอยู่ทั่วทรงพุ่ม แต่ละดอกมีก้านดอกและใบประดับรอง ประกอบด้วยช่อดอกตัวผู้ และช่อดอกสมบูรณ์เพศ กลีบดอกสีขาวนวล ดอกจะออกช่วงเดือนเมษายน หลังจากนั้น ๗๐ วัน จะสามารถเก็บฝักได้ ผลของสะตอเป็นฝักแบนกว้าง ๓-๕ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓๕-๔๕ เวนติเมตร ฝักบิดเป็นเกลียวห่าง ฝักอ่อนมีสีเขียว พอแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ เมล็ดสะตอมีลักษณะเป็นรูปรีเกือบกลมเรียงตามขวางกับฝัก มีสีเขียวอ่อน
สรรพคุณทางสมุนไพร
ใช้เมล็ด ขับลมในลำไส้ แก้ปัสสาวะพิการ ไตพิการ ตามตำราไทยใช้เมล็ดขับลมในลำไส้ แก้ปัสสาวะปวดขัดหรือกะปริบกะปรอย หรือขุ่นข้น หรือมีเลือดไหล หรือเกี่ยวกับไตพิการ ที่ปัสสาวะมีสีขุ่นข้น เหลืองหรือแดง และมีอาการแน่นท้อง กินอาหารไม่ได้
แพทย์แผนโบราณเชื่อว่าสะตอช่วยลดน้ำตาลในเส้นเลือดได้ ผู้ที่กินสะตอเป็นประจำจึงเป็นการป้องกันโรคเบาหวานได้ด้วย
วิธีดับกลิ่นสะตอ เมื่อทานสะตอเข้าไปแล้วหลังทานเข้าไปจะมีกลิ่นปาก ซึ่งเราสามารถกำจัดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์นี้ได้ด้วยการรับประทานมะเขือเปราะตามไปประมาณ 2-3 ลูก ก็จะช่วยดับกลิ่นเหม็นเขียวของสะตอได้ดีในระดับหนึ่ง
แต่สำหรับผู้ที่รับประทานสะตอเป็นประจำอยู่แล้ว คุณเคยรู้หรือไม่ว่าสะตอมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง สะตออุดมไปด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินบี1 วิตามินบี2 วิตามินบี3 วิตามินซี อีกด้วย ซึ่งวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์กับร่างกายทั้งสิ้น
ข้อควรระวัง ! : เนื่องจากสะตอมีกรดยูริกสูง สำหรับผู้ที่เป็นโรคเก๊าท์หรือผู้ที่มีกรดยูริกในร่างกายสูงเกินค่ามาตรฐาน ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานสะเพราะอาจจะทำให้เกิดโรคเก๊าท์กำเริบได้ และกรดยูริกในร่างกายที่สูงก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคนิ่ว โรคไตอักเสบ และมีอาการหูอื้ออีกด้วย