หงอนไก่ไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Celosia argentea Linn.
ชื่อวงศ์ AMARANTHACEAE
ชื่ออื่น หงอนไก่ดง (นครสวรรค์), ดอกด้าย, ด้ายสร้อย, สร้อยไก่, หงอนไก่ (ภาคเหนือ), หงอนไก่ดอกกลม หงอนไก่ฟ้า หงอนไก่ฝรั่ง (ภาคกลาง), แซเซียง ชิงเซียงจื่อ (จีนกลาง)
ลักษณะทางพฤกศาสตร์
ต้น หงอนไก่ไทย มีถิ่นกำเนิดจากอเมริกาเขตร้อน ภายหลังได้กระจายพันธุ์ปลูกไปทั่วโลก โดยจัดเป็นพรรณไม้ล้มลุกฤดูเดียว มีอายุเพียง 1 ปี มีลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 40-150 เซนติเมตร มักแตกกิ่งก้านเป็นสีเขียวแกมแดง ลำต้นมีลักษณะฉ่ำน้ำและมีร่องตามยาว เปลือกลำต้นมีทั้งสีแดงและสีเขียว
ใบ หงอนไก่ไทย ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่แกมขอบขนาน รูปหอกยาว หรือรูปเส้นแกมใบหอก ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเรียวแหลม ส่วนขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-18 เซนติเมตร แผ่นใบเป็นสีเขียวและมักมีสีแดงแต้ม หรือเป็นสีแดงอมม่วง ใบตอนล่างจะมีขนาดใหญ่ ส่วนใบที่อยู่ส่วนยอดจะมีขนาดเล็กกว่า มีก้านใบยาวประมาณ 0.3-1.7 เซนติเมตร
ดอก หงอนไก่ไทย ออกดอกเป็นช่อเป็นแท่งยาว โดยจะตามซอกใบและปลายกิ่งหรือปลายยอด ปลายช่อดอกแหลม ช่อดอกยาวประมาณ 3-10 เซนติเมตร อัดแน่นอยู่ในช่อเดียว ช่อดอกมีดอกย่อยขนาดเล็กจำนวนมาก ดอกย่อยมีกลีบดอกเป็นสีม่วงแกมสีชมพู หรือเป็นสีขาวปลายแต้มด้วยสีชมพู อยู่ติดกันเป็นกระจุก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบเลี้ยง 3 กลีบ เกสรเพศผู้ 5 อัน และไม่มีก้านดอก
ผล หงอนไก่ไทย ผลเป็นผลแห้งและแตกได้ ผลมีกลีบเลี้ยงบางหุ้มเมล็ดอยู่ ลักษณะของผลเป็นรูปไข่กลับ เมล็ดกลมแบนสีดำเป็นมันเงาและแข็ง มีจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปกลมรี
สรรพคุณทางสมุนไพร
ดอก รสฝาดเฝื่อน แก้บิด ห้ามเลือด แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้ริดสีดวงทวาร แก้ตกขาว แก้ปวดศีรษะ แก้ตาแดง
ดอก ก้าน ใบ ใช้เป็นยาแก้ริดสีดวงทวารมีเลือด แก้บิด มูกเลือด ตกเลือด ตกขาว และแก้ตาแดง ใบ ใช้ห้ามเลือด ทาแก้ผดผื่นคัน
ใบ กิ่งก้าน รสฝาดเฝื่อน แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้บิด แก้ผดผื่นคัน ห้ามเลือด
เมล็ด รสขม เป็นยาเย็น ออกฤทธิ์ต่อตับ ใช้เป็นยาแก้ร้อนในตับ ขับลมร้อนในตับ แก้ความดันโลหิตสูง แก้ปวดศีรษะ แก้ตาแดง ตาปวด เยื่อตาอักเสบ ทำให้ตาสว่าง แก้ริดสีดวงทวาร ใช้เป็นยาแก้บิดมูกเลือด ช่วยห้ามเลือด เลือดกำเดาไหล แก้เม็ดผดผื่นคัน อักเสบ
ดอกและเมล็ด ใช้ห้ามเลือด ใช้แก้เลือดกำเดาออก
ราก รสขมเฝื่อน แก้ไข้ที่มีอาการท้องอืดเฟ้อ หรือไข้ที่มีอาการอาหารเป็นพิษร่วมด้วย ไข้พิษ แก้โลหิตเป็นพิษ บำรุงธาตุ แก้หืด แก้เสมหะ